Thai Trademark ให้บริการด้าน จดเครื่องหมายการค้า ตั้งแต่ให้คำปรึกษา ตรวจสอบเครื่องหมายการค้า ยื่นจดทะเบียน ตรวจสอบสถานะ บริการทั่วประเทศ ต้องการใบเสนอราคา info.ThaiTradeMark@Gmail.com
พระราชบัญญัติ
เครื่องสำอาง
พ.ศ. ๒๕๓๕
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๕
เป็นปีที่ ๔๗ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการ
โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอาง
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. ๒๕๓๕”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
(๑) พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. ๒๕๑๗
(๒) พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๘
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
“เครื่องสำอาง” หมายความว่า
(๑) วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ หรือกระทำด้วยวิธีอื่นใด ต่อส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายเพื่อความสะอาด ความสวยงาม หรือส่งเสริมให้เกิดความสวยงามและรวมตลอดทั้งเครื่องประทินผิวต่างๆ ด้วย แต่ไม่รวมถึงเครื่องประดับและเครื่องแต่งตัวซึ่งเป็นอุปกรณ์ภายนอกร่างกาย
(๒) วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอางโดยเฉพาะ หรือ
(๓) วัตถุอื่นที่กำหนดโดยกฎกระทรวงให้เป็นเครื่องสำอาง
“ภาชนะบรรจุ” หมายความว่า วัตถุใดๆ ที่ใช้บรรจุหรือหุ้มห่อเครื่องสำอางโดยเฉพาะ
“ฉลาก” หมายความว่า รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความใดๆ เกี่ยวกับเครื่องสำอางซึ่งแสดงไว้ที่เครื่องสำอาง ภาชนะบรรจุหรือหีบห่อ หรือสอดแทรก หรือรวมไว้กับเครื่องสำอาง ภาชนะบรรจุ หรือหีบห่อ และหมายความรวมถึงเอกสารหรือคู่มือสำหรับใช้ประกอบกับเครื่องสำอาง
“ผลิต” หมายความว่า ทำ ผสม เปลี่ยนรูป แปรสภาพ ปรุงแต่ง แบ่งบรรจุ หรือเปลี่ยนภาชนะบรรจุ
“นำเข้า” หมายความว่า นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร
“ขาย” หมายความว่า จำหน่าย จ่ายแจก หรือแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการค้าและหมายความรวมถึงมีไว้เพื่อขายด้วย
“สถานที่” หมายความว่า ที่ อาคารหรือส่วนของอาคารและหมายความรวมถึงบริเวณสถานที่ด้วย
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการเครื่องสำอาง
“เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๕ เพื่อคุ้มครองอนามัยของบุคคล ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา
(๑) กำหนดชื่อ ประเภท ชนิด หรือลักษณะของเครื่องสำอางควบคุมพิเศษ ซึ่งการผลิตเพื่อขายหรือการนำเข้าเพื่อขาย ต้องได้ขึ้นทะเบียนตามมาตรา ๑๖ เสียก่อน
(๒) กำหนดชื่อ ประเภท ชนิด หรือลักษณะของเครื่องสำอางควบคุม ซึ่งการผลิตเพื่อขายหรือการนำเข้าเพื่อขาย ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดตามมาตรา ๒๗
(๓) กำหนดชื่อ ประเภท ชนิด หรือลักษณะของเครื่องสำอางที่ห้ามผลิต นำเข้าหรือขาย
(๔) กำหนดชื่อวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง
(๕) กำหนดชื่อและปริมาณของวัตถุที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง
(๖) กำหนดชื่อ ประเภท ชนิดหรือลักษณะของเครื่องสำอางที่มีการควบคุมฉลาก
เครื่องสำอางที่จะกำหนดเป็นเครื่องสำอางควบคุมพิเศษ ต้องเป็นเครื่องสำอางที่อาจเป็นอันตรายรุนแรงต่อผู้ใช้ หรือมีส่วนประกอบของวัตถุมีพิษ หรือวัตถุอื่นที่อาจก่อให้เกิดอันตรายรุนแรงต่อสวัสดิภาพอนามัยของบุคคล
ก่อนออกประกาศตามมาตรานี้ ให้มีการรับฟังข้อคิดเห็นจากหน่วยราชการและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย ตามควรแก่กรณี เว้นแต่จะเป็นเรื่องเร่งด่วนหรือมีเหตุจำเป็นที่ไม่อาจปฏิบัติได้เช่นนั้น
มาตรา ๖ ให้มีคณะกรรมการเครื่องสำอางคณะหนึ่ง ประกอบด้วยปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค* อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบดีกรมอนามัย เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ อธิบดีกรมศุลกากร ผู้แทนทบวงมหาวิทยาลัยซึ่งแต่งตั้งจากผู้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะเภสัชศาสตร์สองคนเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง กับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกินหกคน ในจำนวนนี้จะต้องแต่งตั้งจากผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการผลิต นำเข้าหรือจำหน่ายเครื่องสำอางไม่เกินสองคนเป็นกรรมการ
ให้เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาแต่งตั้งข้าราชการของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเป็นกรรมการและเลขานุการหนึ่งคน และเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการสองคน
มาตรา ๗ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี แต่อาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้
มาตรา ๘ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ เมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) รัฐมนตรีให้ออกเพราะไม่สุจริตต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือหย่อนสมรรถภาพ
(๔) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๕) เป็นคนไร้ความสามารถหรือเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือ
(๖) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
เมื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ รัฐมนตรีอาจแต่งตั้งผู้อื่นเป็นกรรมการแทนได้ และให้ผู้นั้นอยู่ในตำแหน่งตามวาระของกรรมการซึ่งตนแทน
มาตรา ๙ การประชุมคณะกรรมการ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุม ให้ถือเสียงข้างมาก
กรรมการคนหนึ่ง ให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
มาตรา ๑๐ ให้คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่
(๑) เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเพื่อปฏิบัติการตามมาตรา ๕ มาตรา ๒๗ หรือมาตรา ๓๕
(๒) ให้คำแนะนำหรือความเห็นในการขึ้นทะเบียนและการเพิกถอนทะเบียนเครื่องสำอางควบคุมพิเศษ เว้นแต่กรณีตามมาตรา ๒๓ วรรคสาม
(๓) ให้คำแนะนำหรือคำปรึกษาแก่รัฐมนตรีในเรื่องที่เกี่ยวกับเครื่องสำอาง
(๔) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนด
มาตรา ๑๑ ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษา หรือวิจัยเกี่ยวกับเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ หรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้
ให้คณะกรรมการกำหนดองค์ประชุมและวิธีดำเนินงานของคณะอนุกรรมการได้ตามความเหมาะสม
มาตรา ๑๒ ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการตามมาตรา ๑๑ มีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งเอกสารหรือวัตถุใด เพื่อประกอบการพิจารณาได้
มาตรา ๑๓ ห้ามมิให้ผู้ใดผลิตเพื่อขายหรือนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางควบคุมพิเศษตามมาตรา ๕ (๑) เว้นแต่เลขาธิการจะรับขึ้นทะเบียนเครื่องสำอางนั้นแล้ว
บทบัญญัติวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับผู้ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งร้านค้าปลอดอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรที่นำเครื่องสำอางควบคุมพิเศษเข้ามาเพื่อขายในร้านค้าปลอดอากร แต่ในการนี้รัฐมนตรีอาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดให้ต้องปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยของประชาชนหรือป้องกันการฝ่าฝืนหรือหลบเลี่ยงบรรดากฎหมายที่เกี่ยวข้องได้
มาตรา ๑๔ การผลิตหรือนำเข้าตัวอย่างเครื่องสำอางควบคุมพิเศษเพื่อการศึกษาวิเคราะห์ทางวิชาการหรือเพื่อการขอขึ้นทะเบียน ต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อน และให้ผลิตหรือนำเข้าได้ตามจำนวนที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงด้วย
มาตรา ๑๕ ผู้ขอขึ้นทะเบียนเครื่องสำอางควบคุมพิเศษต้องยื่นคำขอ ส่งมอบตัวอย่าง และแจ้งรายละเอียดของเครื่องสำอางต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
กฎกระทรวงตามวรรคหนึ่ง ให้กำหนดสิ่งที่ผู้ขอขึ้นทะเบียนต้องนำมาแสดงโดยครบถ้วน และกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการเพื่อขึ้นทะเบียนไว้ด้วย
มาตรา ๑๖ การขึ้นทะเบียนเครื่องสำอางควบคุมพิเศษ ให้ระบุสาระสำคัญดังต่อไปนี้ไว้ในทะเบียน
(๑) ชื่อและสถานประกอบการของผู้ผลิตเพื่อขายหรือผู้นำเข้าเพื่อขาย
(๒) ชื่อทางการค้าของเครื่องสำอาง
(๓) สารสำคัญและวัตถุอื่นที่ใช้เป็นส่วนผสม
(๔) กระบวนการผลิต
(๕) วิธีการวิเคราะห์
(๖) สถานที่ผลิต เครื่องมือและเครื่องใช้ในการผลิตสำหรับกรณีผู้ผลิตเพื่อขาย
(๗) วิธีการเก็บรักษา
(๘) ภาชนะบรรจุ
(๙) ฉลากที่มีการควบคุมตามมาตรา ๕ (๖)
เครื่องสำอางควบคุมพิเศษของผู้ขอขึ้นทะเบียนรายเดียวกันที่แตกต่างกันเพียงในส่วนของชื่อทางการค้า สี ขนาดบรรจุ หรือส่วนที่มิใช่สาระสำคัญประการอื่นที่รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้ขึ้นทะเบียนรวมกันในทะเบียนเครื่องสำอางควบคุมพิเศษเดียวกัน
มาตรา ๑๗ ค่าใช้จ่ายในการวิเคราะห์หรือตรวจสอบต่างๆ เพื่อการขึ้นทะเบียนเครื่องสำอางควบคุมพิเศษ ให้ผู้ขอขึ้นทะเบียนชำระตามการใช้จ่ายและภาระที่เกิดขึ้นจริง
มาตรา ๑๘ ให้เลขาธิการมีคำสั่งไม่รับขึ้นทะเบียนเครื่องสำอางควบคุมพิเศษถ้าคณะกรรมการเห็นว่า
(๑) เครื่องสำอางนั้นไม่ปลอดภัยในการใช้ตามมาตรา ๓๓ (๑) (๒) หรือ (๓)
(๒) เครื่องสำอางนั้นใช้ชื่อไปในทำนองโอ้อวด ไม่สุภาพ หรืออาจทำให้เข้าใจผิดจากความจริง หรือ
(๓) เครื่องสำอางที่ใช้ชื่อไม่เหมาะสมกับวัฒนธรรมอันดีงามของไทยหรือส่อไปในทางทำลายคุณค่าของภาษาไทย
(๔) สถานที่ผลิต เครื่องมือและเครื่องใช้ในการผลิตของผู้ผลิตเพื่อขายไม่ถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
คำสั่งไม่รับขึ้นทะเบียนให้เป็นที่สุด
มาตรา ๑๙ ถ้าใบสำคัญการขึ้นทะเบียนสูญหายหรือถูกทำลายในสาระสำคัญให้ผู้ผลิตเพื่อขาย หรือนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางควบคุมพิเศษยื่นคำขอรับใบแทนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบการสูญหายหรือถูกทำลาย
การขอรับใบแทนใบสำคัญและการออกใบแทนใบสำคัญให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๒๐ ผู้ขอขึ้นทะเบียนอาจขอแก้ไขรายการเครื่องสำอางควบคุมพิเศษที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้วได้โดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงและให้นำมาตรา ๑๕ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๒๑ เครื่องสำอางควบคุมพิเศษรายใดที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้วหากต่อมาปรากฏว่าเครื่องสำอางนั้นไม่ปลอดภัยในการใช้ตามมาตรา ๓๓ เลขาธิการโดยคำแนะนำหรือความเห็นชอบของคณะกรรมการ มีอำนาจสั่งเพิกถอนการขึ้นทะเบียนเครื่องสำอางนั้นได้
มาตรา ๒๒ ผู้ผลิตเพื่อขายหรือผู้นำเข้าเพื่อขาย ต้องผลิตหรือนำเข้าเครื่องสำอางควบคุมพิเศษให้ตรงตามที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้
ผู้ผลิตเพื่อขายเครื่องสำอางควบคุมพิเศษ ต้องผลิต และมีสถานที่ผลิตเครื่องมือและเครื่องใช้ในการผลิตตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
การนำเข้าเครื่องสำอางควบคุมพิเศษทุกครั้ง ต้องจัดให้มีเอกสารประกอบการนำเข้าตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ในการนี้เมื่อพนักงานศุลกากรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ตรวจปล่อยให้นำเข้าแล้ว ให้จัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องดังกล่าวไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาโดยไม่ชักช้า
มาตรา ๒๓ ถ้าผู้ได้ขึ้นทะเบียนเครื่องสำอางควบคุมพิเศษรายใดจะเริ่มประกอบการผลิตหรือนำเข้าเครื่องสำอางดังกล่าวเมื่อใด ผู้นั้นต้องแจ้งให้เลขาธิการทราบก่อน
ตั้งแต่มีการแจ้งตามวรรคหนึ่ง ผู้ได้ขึ้นทะเบียนเครื่องสำอางควบคุมพิเศษต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปีตามที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ต้องไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะมีการแจ้งหยุดการประกอบการผลิตหรือการนำเข้า
ถ้าไม่มีการชำระค่าธรรมเนียมรายปีภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละห้าต่อเดือน และให้เลขาธิการเตือนให้มีการชำระค่าธรรมเนียมรายปีและเงินเพิ่มภายในระยะเวลาสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือเตือน และถ้ายังไม่มีการชำระให้ถูกต้องให้เลขาธิการเพิกถอนทะเบียนเครื่องสำอางควบคุมพิเศษนั้นเสีย
มาตรา ๒๔ ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้ผลิตเพื่อขายหรือผู้นำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางควบคุมพิเศษฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๒ หรือกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๒๒ ให้เลขาธิการมีอำนาจสั่งให้ผู้นั้นระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือแก้ไขปรับปรุงหรือปฏิบัติให้ถูกต้องได้ และให้มีอำนาจประกาศการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามดังกล่าวให้ประชาชนทราบ เพื่อประโยชน์แก่การคุ้มครองผู้บริโภคได้ ตามควรแก่กรณี
มาตรา ๒๕ ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องสำอางควบคุมพิเศษที่มิได้ขึ้นทะเบียนหรือถูกสั่งเพิกถอนทะเบียนแล้ว เว้นแต่เป็นการขายในร้านค้าปลอดอากรโดยผู้ดำเนินการร้านค้าปลอดอากรซึ่งได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา ๑๓ วรรคสอง
มาตรา ๒๖ ในกรณีมีความจำเป็นเพื่อการควบคุม เลขาธิการมีอำนาจออกคำสั่ง ดังต่อไปนี้
(๑) ให้ผู้ผลิตเพื่อขายหรือผู้นำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางควบคุมพิเศษต้องรายงานรายละเอียดของการดำเนินการเกี่ยวกับเครื่องสำอางที่ตนได้ผลิตหรือนำเข้า
(๒) ให้ผู้ผลิตเพื่อขายหรือผู้นำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางควบคุมพิเศษต้องจัดส่งตัวอย่างของเครื่องสำอางที่ตนได้ผลิตหรือนำเข้า
มาตรา ๒๗ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองอนามัยของบุคคล ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดปริมาณของส่วนประกอบสำคัญของเครื่องสำอางควบคุมตามมาตรา ๕ (๒) ได้ และจะกำหนดภาชนะบรรจุ หลักเกณฑ์ วิธีการผลิต วิธีการนำเข้า หรือวิธีการเก็บรักษาเพื่อให้ผู้ผลิตเพื่อขายหรือผู้นำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางควบคุมปฏิบัติด้วยก็ได้
มาตรา ๒๘ ผู้ใดประสงค์จะผลิตเพื่อขายหรือนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางควบคุม ต้องปฏิบัติดังนี้
(๑) แจ้งชื่อ ที่ตั้งสำนักงาน และสถานที่ผลิตหรือสถานที่เก็บเครื่องสำอาง แล้วแต่กรณี
(๒) แจ้งชื่อ ประเภท หรือชนิดของเครื่องสำอางที่ตนจะผลิตหรือนำเข้า
(๓) แจ้งปริมาณของส่วนประกอบสำคัญของเครื่องสำอางนั้น
การแจ้งตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
ผู้ผลิตเพื่อขายหรือผู้นำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางควบคุม ต้องปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรีตามมาตรา ๒๗
ให้นำความในมาตรา ๒๓ วรรคสองและวรรคสาม มาตรา ๒๔ และมาตรา ๒๖ มาใช้บังคับแก่การผลิตเพื่อขายหรือการนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางควบคุมโดยอนุโลม
มาตรา ๒๙ ในกรณีมีการกำหนดวัตถุใดที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางได้ตามมาตรา ๕ (๕) ให้ถือว่าการใช้วัตถุดังกล่าวในเครื่องสำอางเป็นการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายแล้วโดยไม่ต้องอยู่ในบังคับของบทกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอีก
วัตถุใดที่มีการกำหนดเป็นวัตถุที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอางได้ตามมาตรา ๕ (๕) ถ้าต่อมาได้มีการประกาศวัตถุนั้นเป็นวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอางตามมาตรา ๕ (๔) ประกาศดังกล่าวจะใช้บังคับได้เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ประกาศ เว้นแต่กรณีที่จะเป็นอันตรายร้ายแรงต่อผู้ใช้ จะมีการกำหนดให้ใช้บังคับโดยทันที หรือมีกำหนดจะใช้บังคับน้อยกว่าระยะเวลาดังกล่าวก็ได้
มาตรา ๓๐ ฉลากของเครื่องสำอางที่มีการควบคุมตามมาตรา ๕ (๖) จะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
(๑) ใช้ข้อความที่ตรงต่อความจริง และไม่มีข้อความที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง
(๒) ต้องระบุข้อความอันจำเป็น ซึ่งหากมิได้กล่าวเช่นนั้น จะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง
การกำหนดตามวรรคหนึ่ง (๒) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และรายละเอียดที่คณะกรรมการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๓๑ เมื่อคณะกรรมการเห็นว่าฉลากใดไม่เป็นไปตามมาตรา ๓๐ คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ผู้ผลิตเพื่อขาย หรือผู้นำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางที่มีการควบคุมฉลากเลิกใช้ฉลากดังกล่าวหรือดำเนินการแก้ไขฉลากนั้นให้ถูกต้อง
มาตรา ๓๒ ผู้ประสงค์จะผลิตเพื่อขายหรือนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางที่มีการควบคุมฉลาก อาจขอให้เลขาธิการให้ความเห็นในฉลากที่ประสงค์จะใช้นั้นได้
การขอความเห็น ค่าป่วยการ และระยะเวลาในการให้ความเห็นให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด
มาตรา ๓๓ เครื่องสำอางที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้
(๑) เครื่องสำอางที่มีสารที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้เจือปนอยู่ด้วย
(๒) เครื่องสำอางที่มีวัตถุที่ห้ามใช้ตามมาตรา ๕ (๔)
(๓) เครื่องสำอางที่ผลิตหรือใช้ภาชนะบรรจุไม่ถูกสุขลักษณะอันอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้
(๔) เครื่องสำอางที่มีสารอันสลายตัวทั้งหมดหรือแต่บางส่วนภายหลังที่บรรจุภาชนะแล้ว และทำให้เกิดเป็นพิษอันอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้
มาตรา ๓๔ เครื่องสำอางที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นเครื่องสำอางปลอม
(๑) เครื่องสำอางที่ใช้วัตถุอย่างหนึ่งอย่างใดที่ทำเทียมขึ้นเป็นสารสำคัญของเครื่องสำอางนั้น หรือเป็นเครื่องสำอางที่ไม่มีสารสำคัญตามที่ได้แจ้งไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
(๒) เครื่องสำอางที่แสดงว่าได้ขึ้นทะเบียนไว้ซึ่งมิใช่ความจริง
(๓) เครื่องสำอางที่ใช้ฉลากแจ้งชื่อผู้ผลิต หรือแหล่งผลิตที่มิใช่ความจริง
(๔) เครื่องสำอางซึ่งมีสารสำคัญขาด หรือเกินกว่าร้อยละยี่สิบตามที่ขึ้นทะเบียนไว้หรือตามที่แจ้งไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือตามที่ระบุไว้ในฉลาก
มาตรา ๓๕ เครื่องสำอางซึ่งมีสารสำคัญน้อยหรือมากกว่าที่ขึ้นทะเบียนเครื่องสำอางไว้ หรือที่ได้แจ้งไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือที่ระบุไว้ในฉลาก เกินเกณฑ์ค่าคลาดเคลื่อนที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาแต่ไม่ถึงขนาดดังกล่าว ในมาตรา ๓๔ (๔) ให้ถือว่าเป็นเครื่องสำอางผิดมาตรฐาน
มาตรา ๓๖ ห้ามมิให้ผู้ใดผลิตเพื่อขาย นำเข้าเพื่อขาย หรือขายเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ตามมาตรา ๓๓ เครื่องสำอางปลอมตามมาตรา ๓๔ หรือเครื่องสำอางผิดมาตรฐานตามมาตรา ๓๕
มาตรา ๓๗ ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค ในส่วนที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านการโฆษณามาใช้บังคับแก่การโฆษณาเครื่องสำอางโดยอนุโลม โดยให้ถือว่าอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรี และให้ถือว่าอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ
มาตรา ๓๘ เมื่อปรากฏว่าผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้นำเข้าเพื่อขายหรือผู้ขายใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ากระทำการเช่นว่านั้น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับอนุมัติจากเลขาธิการมีอำนาจจับกุมผู้นั้น เพื่อส่งพนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไปตามกฎหมาย
ในกรณีมีเหตุอันสมควร เลขาธิการอาจสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการร่วมกับพนักงานสอบสวนได้ตามระเบียบที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงมหาดไทย ในการนี้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวมีฐานะเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๓๙ ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำผิดพระราชบัญญัตินี้ให้เลขาธิการมีอำนาจสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑) เข้าไปในสถานที่ผลิต สถานที่นำเข้า สถานที่เก็บ หรือสถานที่ขายเครื่องสำอาง หรือเข้าไปในยานพาหนะที่บรรทุกเครื่องสำอาง ทั้งนี้ เพื่อตรวจสอบเครื่องสำอาง ภาชนะบรรจุ เอกสารหรือสิ่งใดๆ ที่เกี่ยวกับเครื่องสำอาง รวมตลอดทั้งวิธีการผลิต หรือวิธีการเก็บรักษา ในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการของสถานที่นั้น
(๒) นำเครื่องสำอางหรือวัตถุที่สงสัยว่าเป็นเครื่องสำอางในปริมาณพอสมควรไปเป็นตัวอย่างเพื่อตรวจสอบหรือวิเคราะห์
(๓) ค้น ยึด หรืออายัดเครื่องสำอาง ภาชนะบรรจุ เอกสารหรือสิ่งใดๆ ที่เกี่ยวกับเครื่องสำอาง
(๔) มีหนังสือเรียกให้บุคคลใดๆ มาให้ถ้อยคำ หรือส่งเอกสารและหลักฐานที่จำเป็นเพื่อประกอบการพิจารณาของพนักงานเจ้าหน้าที่
ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกตามสมควร
มาตรา ๔๐ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๓๙ (๑) ให้กระทำการต่อหน้าผู้ครอบครองสถานที่หรือยานพาหนะ หรือถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่อยู่ในที่นั้นก็ให้กระทำต่อหน้าบุคคลอื่นอย่างน้อยสองคน ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ร้องขอมาเป็นพยาน ถ้าไม่เป็นการเร่งด่วนให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่หรือยานพาหนะนั้นทราบล่วงหน้าตามสมควรก่อน
สิ่งของใดที่ได้ยึดหรืออายัดต้องให้ผู้ครอบครองสถานที่หรือยานพาหนะ บุคคลที่ทำงานในสถานที่หรือยานพาหนะนั้น หรือพยานดู แล้วแต่กรณี เพื่อให้รับรองว่าถูกต้อง ถ้าบุคคลดังกล่าวนั้นรับรองหรือไม่ยอมรับรอง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่บันทึกไว้
สิ่งของที่ยึดหรืออายัดได้ให้ห่อหรือบรรจุหีบห่อตีตราไว้ หรือให้ทำเครื่องหมายไว้เป็นสำคัญ
มาตรา ๔๑ ให้เลขาธิการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศผลการตรวจสอบหรือวิเคราะห์เครื่องสำอางหรือวัตถุที่สงสัยว่าเป็นเครื่องสำอางที่นำไปตรวจสอบหรือวิเคราะห์ตามมาตรา ๓๙ (๒) ให้ประชาชนทราบ เพื่อประโยชน์แก่การคุ้มครองผู้บริโภคได้ ในการนี้จะต้องให้เจ้าของเครื่องสำอางมีโอกาสชี้แจง โต้แย้ง และแสดงพยานหลักฐาน ตามควรแก่กรณี
มาตรา ๔๒ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๓๙ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะที่มิให้มีการเสียหายหรือกระจัดกระจายเท่าที่กระทำได้
มาตรา ๔๓ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ค้นบันทึกรายละเอียดแห่งการค้นและบัญชีรายละเอียดสิ่งของที่ค้น ยึด หรืออายัด
บันทึกการค้นและบัญชีดังกล่าวในวรรคหนึ่ง ให้อ่านให้ผู้ครอบครองสถานที่หรือยานพาหนะ บุคคลที่ทำงานในสถานที่หรือยานพาหนะนั้น หรือพยานฟัง แล้วแต่กรณี และให้บุคคลดังกล่าวนั้นลงลายมือชื่อรับรองไว้ ถ้าไม่ยอมลงลายมือชื่อรับรองให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ค้นบันทึกไว้ และให้ส่งบันทึก บัญชี และสิ่งของที่ยึดไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข โดยรีบด่วน
มาตรา ๔๔ ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวเมื่อผู้ที่เกี่ยวข้องร้องขอ
บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๔๕ เมื่อปรากฏว่าเครื่องสำอางใดที่ผลิตเพื่อขาย นำเข้าเพื่อขายหรือขาย ที่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๓ หรือมีลักษณะตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๑ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ หรือมาตรา ๓๕ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดหรืออายัดไว้เพื่อดำเนินคดีต่อไป
สำหรับเครื่องสำอางตามวรรคหนึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งให้ผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้นำเข้าเพื่อขาย ผู้ขายหรือผู้ครอบครอง จัดเก็บและทำลายเครื่องสำอางนั้นหรือส่งมอบให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ภายในระยะเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดก็ได้
ของที่ยึดหรืออายัดไว้ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองมิได้โต้แย้งและขอรับคืนภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ยึดหรืออายัด ให้เครื่องสำอางนั้นตกเป็นของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อจัดการตามระเบียบที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
มาตรา ๔๖ ผู้ใดไม่มาให้ถ้อยคำหรือไม่ส่งเอกสาร หรือวัตถุตามที่คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการสั่งตามมาตรา ๑๒ หรือตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งตามมาตรา ๓๙ (๔) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๔๗ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๓ วรรคหนึ่ง หรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา ๑๓ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดได้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งซ้ำอีกภายในเวลาห้าปีนับแต่วันที่กระทำความผิดครั้งที่แล้ว ผู้นั้นต้องระวางโทษสองเท่าของโทษที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง
มาตรา ๔๘ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๙ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
มาตรา ๔๙ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๑๔ หรือฝ่าฝืนมาตรา ๒๒ วรรคหนึ่ง หรือกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๒๒ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๕๐ ผู้ใดผลิตหรือนำเข้าเครื่องสำอางควบคุมพิเศษที่ถูกสั่งเพิกถอนใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตามมาตรา ๒๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๔๗ วรรคสอง มาใช้บังคับแก่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม
มาตรา ๕๑ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๓ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๔๗ วรรคสอง มาใช้บังคับแก่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม
มาตรา ๕๒ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๔ หรือมาตรา ๔๕ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๕๓ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๕ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำโดยประมาท ผู้กระทำต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๔๗ วรรคสอง มาใช้บังคับแก่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม
มาตรา ๕๔ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเลขาธิการตามมาตรา ๒๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๕๕ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๘ วรรคหนึ่ง หรือวรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๕๖ ผู้ใดโดยเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่นอันเกี่ยวกับเครื่องสำอาง ไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น ใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จหรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งกระทำผิดซ้ำอีกภายในหกเดือน นับแต่วันกระทำความผิดครั้งก่อน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๕๗ ผู้ใดขายเครื่องสำอางที่มีการควบคุมฉลาก โดยไม่มีฉลากหรือมีฉลากแต่ฉลากหรือการแสดงฉลากนั้นไม่ถูกต้อง หรือขายเครื่องสำอางที่มีฉลากที่คณะกรรมการสั่งเลิกใช้ตามมาตรา ๓๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำโดยประมาท ผู้กระทำต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำของผู้ผลิตเพื่อขายหรือผู้นำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางที่มีการควบคุมฉลาก ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๕๘ ผู้ใดรับจ้างทำฉลากที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือรับจ้างติดตรึงฉลากที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายกับเครื่องสำอางที่มีการควบคุมฉลากโดยรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าฉลากดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
มาตรา ๕๙ ผู้ใดผลิตเพื่อขาย นำเข้าเพื่อขาย หรือขายเครื่องสำอางที่มีลักษณะตามมาตรา ๓๓ (๑) หรือ (๒) หรือมาตรา ๓๔ (๑) หรือ (๒) อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๓๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดผลิตเพื่อขาย นำเข้าเพื่อขาย หรือขายเครื่องสำอางที่มีลักษณะตามมาตรา ๓๓ (๓) หรือ (๔) หรือมาตรา ๓๔ (๓) หรือ (๔) อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๓๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง เป็นการกระทำโดยประมาท ผู้กระทำต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท
ถ้าการขายเครื่องสำอางตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง เป็นการกระทำโดยประมาท ผู้กระทำต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
มาตรา ๖๐ ผู้ใดผลิตเพื่อขายหรือนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางที่มีลักษณะตามมาตรา ๓๕ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๓๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
ถ้าการนำเข้าเพื่อขายตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำโดยประมาท ผู้กระทำต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
มาตรา ๖๑ ผู้ใดขายเครื่องสำอางที่มีลักษณะตามมาตรา ๓๕ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๓๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำโดยประมาท ผู้กระทำต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามพันบาท
มาตรา ๖๒ ผู้ใดไม่อำนวยความสะดวกตามสมควรแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๓๙ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๖๓ บรรดาเครื่องสำอางที่ผลิตเพื่อขาย นำเข้าเพื่อขาย หรือขายที่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๓ หรือมีลักษณะตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๑ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ หรือมาตรา ๓๕ รวมทั้งภาชนะบรรจุ ฉลาก และอุปกรณ์สำหรับใช้กับเครื่องสำอางดังกล่าว ให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่และของที่ริบให้ส่งมอบแก่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเพื่อจัดการตามระเบียบที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
มาตรา ๖๔ ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้ลงโทษบุคคลใดในความผิดตามมาตรา ๔๗ มาตรา ๕๐ มาตรา ๕๓ หรือมาตรา ๕๙ วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ถ้ามีพฤติการณ์ให้เห็นว่าบุคคลดังกล่าวอาจจะกระทำความผิดเช่นนั้นขึ้นอีก ศาลจะสั่งไว้ในคำพิพากษาห้ามการประกอบการผลิต หรือนำเข้าหรือขายมีกำหนดเวลาไม่เกินห้าปี นับแต่วันพ้นโทษไปแล้วก็ได้
มาตรา ๖๕ บรรดาความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียวตามพระราชบัญญัตินี้ ให้คณะกรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่คณะกรรมการมอบหมายมีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้
ในกรณีที่มีการยึดหรืออายัดของกลางที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้มีอำนาจเปรียบเทียบปรับตามวรรคหนึ่ง จะเปรียบเทียบปรับได้ต่อเมื่อ
(๑) ในกรณีที่อาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ เมื่อผู้กระทำความผิดยินยอมและได้แก้ไขของกลางที่ยึดหรืออายัดไว้ให้ถูกต้องแล้ว
(๒) ในกรณีที่ไม่อาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ เมื่อผู้กระทำความผิดยินยอมให้ของกลางที่ยึดหรืออายัดไว้ตกเป็นของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
ในกรณีที่ผู้ยินยอมให้เปรียบเทียบปรับ ได้แก้ไขของกลางถูกต้องแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ถอนการยึดหรืออายัดของกลางนั้นเสีย
บรรดาสิ่งของที่ตกเป็นของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้จัดการตามระเบียบที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
มาตรา ๖๖ ให้รัฐมนตรีออกประกาศกำหนดชื่อของเครื่องสำอางควบคุมพิเศษ และเครื่องสำอางควบคุมให้แล้วเสร็จภายในหกเดือนนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ในระหว่างที่การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ยังไม่แล้วเสร็จ
(๑) ให้ถือว่าเครื่องสำอางที่การผลิตเพื่อขายหรือนำเข้าเพื่อขายต้องขอรับใบอนุญาตตามมาตรา ๕ (๑) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. ๒๕๑๗ เป็นเครื่องสำอางควบคุมพิเศษตามพระราชบัญญัตินี้ โดยให้ถือว่าผู้ได้รับใบอนุญาตให้ผลิตเพื่อขายหรือนำเข้าเพื่อขาย และได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนเครื่องสำอางดังกล่าว เป็นผู้ได้ขึ้นทะเบียนเครื่องสำอางควบคุมพิเศษตามพระราชบัญญัตินี้
(๒) ให้ถือว่าเครื่องสำอางที่ต้องมีคุณภาพมาตรฐานตามที่กำหนดตามมาตรา ๕ (๒) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.๒๕๑๗ เป็นเครื่องสำอางควบคุมตามพระราชบัญญัตินี้ โดยให้ถือว่าประกาศของรัฐมนตรีที่กำหนดคุณภาพมาตรฐานสำหรับเครื่องสำอางดังกล่าวเป็นประกาศของรัฐมนตรีตามมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๖๗ บรรดากฎกระทรวงและประกาศที่ได้ออกตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอางและใช้อยู่ในวันใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ ให้คงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๖๘ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ ยกเว้นค่าธรรมเนียม และกำหนดกิจการอื่นกับออกประกาศ ทั้งนี้ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงและประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
อานันท์ ปันยารชุน
นายกรัฐมนตรี