การได้มาซึ่งสิทธิในเครื่องหมายการค้ามีที่มาได้ 2 ทาง ดังต่อไปนี้
3.1 การได้มาซึ่งสิทธิโดยการใช้
การได้มาซึ่งสิทธิในเครื่องหมายการค้าโดยการใช้ คือการที่บุคคลใดได้นำเครื่องหมายการค้าของตนออกใช้กับสินค้าของตนก่อนบุคคลอื่น อันเป็นผลให้บุคคลผู้ใช้เครื่องหมายการค้าก่อนดังกล่าว มีสิทธิดีกว่าบุคคลอื่นผู้ใช้เครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายคลึงกันในภายหลัง ด้วยการห้ามการใช้อันถือเป็นการละเมิด
สิทธิของตน (ประเทือง 2532 : 167)
ในบางประเทศโดยเฉพาะที่ใช้ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ ดังเช่นประเทศอังกฤษและประเทศสหรัฐอเมริกา ต่างมีหลักกฎหมายอันให้สิทธิในเครื่องหมายการค้าที่มิได้จดทะเบียนแก่เจ้าของเครื่องหมายการค้าของตนภายใต้เงื่อนไขที่ว่าต้องมีการใช้เครื่องหมายการค้านั้นอย่างแท้จริง ตลอดจนต้องสามารถพิสูจน์ถึงชื่อเสียงในสินค้า อันก่อให้เกิด goodwill ในชื่อของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ติดอยู่กับสินค้านั้น
อย่างไรก็ตาม แทบทุกประเทศในโลกได้กำหนดให้ความคุ้มครองสิทธิในเครื่องหมายการค้าอันได้จดทะเบียนไว้เป็นหลักพื้นฐาน ส่วนการให้ความคุ้มครองเครื่องหมายการค้าที่มิได้จดทะเบียน แต่เจ้าของได้ใช้กับสินค้าของตนนั้น เป็นทางเลือกรองลงมาเพื่อมุ่งป้องกันการกระทำอันมีลักษณะฉ้อโกงและหลอกลวงผู้บริโภคในแหล่งที่มาแห่งสินค้า ซึ่งเป็นผลตามมาให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของสินค้าที่ติดเครื่องหมายการค้าดังกล่าว
พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543 ได้กำหนดสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าจากการใช้เครื่องหมายการค้าของตนกับสินค้าที่นำออกจำหน่ายในท้องตลาด แม้ว่าจะไม่ได้ทำการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของตนไว้ตามกฎหมายก็ตาม โดยในมาตรา 46 บัญญัติให้สิทธิแก่เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียน ในอันที่จะฟ้องคดีบุคคลใดซึ่งเอาสินค้าของตนไปลวงขายว่า เป็นสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นนอกจากนี้ ผลของการใช้เครื่องหมายการค้าของตนอาจก่อให้เกิดสิทธิในอันที่จะขอจดทะเบียนซ้อน สำหรับเครื่องหมายการค้าดังกล่าวก็ได้
ดังที่พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543 มาตรา 27 กำหนดไว้ในกรณีที่ว่า หากบุคคลใดใช้เครื่องหมายการค้าของตนมาโดยสุจริต และต่อมาได้นำเครื่องหมายการค้าของตนมาขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามกฎหมาย แต่เครื่องหมายการค้าของตนไปเหมือน หรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว หรือเครื่องหมายการค้าของตนไปเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่บุคคลอื่นกำลังขอจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกัน หรือต่างจำพวกกันที่นายทะเบียนเห็นว่ามีลักษณะอย่างเดียวกัน นายทะเบียนอาจเห็นว่าสมควรรับจดทะเบียนก็ได้ โดยให้มีเงื่อนไขและข้อจำกัดเกี่ยวกับ วิธีการใช้และเขตแห่งการใช้เครื่องหมายการค้านั้น หรือเงื่อนไขและข้อจำกัดอื่น ตามที่นายทะเบียนเห็นสมควรกำหนดด้วยก็ได้ (ไชยยศ 2544 : 268)
3.2 การได้มาซึ่งสิทธิโดยการจดทะเบียน
การได้มาซึ่งสิทธิในเครื่องหมายการค้าโดยการจดทะเบียน คือ การที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดได้นำเครื่องหมายการค้าของตนไปจดทะเบียนไว้กับหน่วยงานของรัฐบาล เมื่อได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว เจ้าของเครื่องหมายการค้าย่อมมีสิทธิแต่ผู้เดียว ในการใช้เครื่องหมายการค้าของตนตามที่กฎหมายรับรองสิทธิไว้ หากบุคคลใดนำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปใช้ ก็ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดสิทธินั้น(ประเทือง 2532 : 167)
กฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าของประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่กำหนดให้ความคุ้มครองเครื่องหมายการค้าด้วยการให้จดทะเบียนไว้ ตามหลักเกณฑ์ซึ่งกำหนดไว้ในบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543 มาตรา 44 บัญญัติถึงการได้มาซึ่งสิทธิในเครื่องหมายการค้า โดยการจดทะเบียนไว้
โดยเมื่อได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว ผู้ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าเป็นผู้มีสิทธิแต่ผู้เดียว ( exclusive right ) ในอันที่จะใช้ เครื่องหมายการค้านั้น สำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ และมาตรา46 วรรคแรก บัญญัติให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าสามารถฟ้องร้องหรือเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้กระทำละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนนั้น
นอกจากนี้ มาตรา 49 กำหนดให้สามารถโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้ว ตลอดจนมาตรา 68 ได้บัญญัติให้เจ้าของเครื่องหมายการค้ามีสิทธิในการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วเช่นกัน
Thai Trademark ให้บริการด้าน จดเครื่องหมายการค้า จดลิขสิทธิ์ ปรึกษา ตรวจสอบ
รับจดเครื่องหมายการค้า บริการทั่วประเทศ
ต้องการใบเสนอราคา info.ThaiTradeMark@Gmail.com