ขายสินค้าที่ผู้อื่นจดเครื่องหมายการค้า และตั้งผู้แทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวไว้แล้ว ได้หรือไม่

sale-TradeMark.png

มีปัญหาหนึ่งที่ผู้ประกอบการหลายท่านสงสัย  โดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าตามตลาดนัดต่างๆ  บางรายถึงขนาดเคยถูกดำเนินคดี หรือต้องเสียเงินทองกันมาแล้ว ว่า กรณีที่สินค้าหนึ่งซึ่งได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้วและได้แต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวไว้ด้วย  ผู้อื่นจะไปนำสินค้าเดียวกันนั้นมาขายแข่งกับผู้แทนจำหน่ายได้หรือไม่ ในเรื่องนี้มีเรื่องจริงที่เกิดขึ้นสามารถนำมาเทียบเคียงกันได้ คือ


Thai Trademark  ให้บริการด้าน จดเครื่องหมายการค้า  จดลิขสิทธิ์ ปรึกษา ตรวจสอบ

รับจดเครื่องหมายการค้า  บริการทั่วประเทศ 

ต้องการใบเสนอราคา info.ThaiTradeMark@Gmail.com


มีบริษัท ก ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายสหรัฐอเมริกา ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “W” ในประเทศไทยสำหรับใช้กับสินค้าปัตตะเลี่ยน  ซึ่งบริษัท ก ได้มอบให้บริษัท ข เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าปัตตะเลี่ยนที่ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวแต่ผู้เดียวในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2527 จนถึงปี 2538  ในปี 2537 บริษัท ข จำหน่ายสินค้าดังกล่าวได้น้อยลงผิดสังเกต จึงได้สืบสวนหาสาเหตุจนทราบว่าบริษัท ค ได้นำเข้าสินค้าปัตตะเลี่ยนของบริษัท ก จากประเทศสิงคโปร์ โดยบริษัท ก และ ข ไม่ได้ให้ความยินยอมและบริษัท ค ทราบอยู่แล้วว่าบริษัท ก ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “W” ไว้แล้ว และบริษัท ข เป็นผู้มีสิทธิจำหน่ายสินค้าดังกล่าวในประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว  ทั้งนี้ปัตตะเลี่ยนของบริษัท ก ที่ผลิตออกจำหน่ายมีสองแบบแบบที่ 1 บรรจุอยู่ในกล่องพลาสติกใส แบบที่ 2 บรรจุอยู่ในกล่องโฟมห่อหุ้มด้วยกล่องกระดาษ  ปัตตะเลี่ยนของบริษัท ก  ที่บริษัท ค ได้สั่งซื้อจากตัวแทนของบริษัท ก ในประเทศสิงคโปร์นั้นได้เพิ่มซองกระดาษห่อหุ้มกล่องที่บรรจุปัตตะเลี่ยนของบริษัท ก  ไว้อีกชั้นหนึ่ง มีการพิมพ์รูปปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าของบริษัท ก  ทับซ้อนบนรูปธงชาติของประเทศสหรัฐอเมริกาและพิมพ์เครื่องหมายการค้าคำว่า “W” ไว้ที่มุมขวาด้านล่าง พร้อมกับมีสติกเกอร์พิมพ์ข้อความว่า “ของแท้ต้องมีใบรับประกัน 1 ปี” ปิดทับบนซองดังกล่าว นอกจากนี้ภายในกล่องซึ่งบรรจุปัตตะเลี่ยนยังมีใบรับประกันซึ่งมีชื่อและที่ตั้งของบริษัท ง ซึ่งเป็นศูนย์บริการซ่อมปัตตะเลี่ยนใส่ไว้ทุกกล่อง  บริษัท ก และ ข จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัท ค และห้ามบริษัท ค จำหน่ายปัตตะเลี่ยนดังกล่าว

           ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า  การที่บริษัท ค ซื้อสินค้าปัตตะเลี่ยนของบริษัท ก  จากตัวแทนของบริษัท ก  ในประเทศสิงคโปร์นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากบริษัท ก เป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้วของบริษัท ก  หรือไม่   เห็นว่า แม้ตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2535 มาตรา 44 จะเป็นบทบัญญัติให้การคุ้มครองสิทธิของบริษัท ก ในฐานะที่เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “W”ตามที่ได้จดทะเบียนไว้ก็ตาม ก็เป็นเพียงการคุ้มครองโดยให้สิทธิแก่บริษัท ก  เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับสินค้าปัตตะเลี่ยนตามที่ได้จดทะเบียนไว้ซึ่งทำให้บริษัท ก  มีสิทธิหวงกันไม่ให้ผู้อื่นนำเครื่องหมายการค้าของบริษัท ก ไปใช้โดยมิชอบเท่านั้น  และเมื่อพิจารณาประกอบกับบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ที่บัญญัติว่า “เครื่องหมายการค้า หมายความว่า เครื่องหมายที่ใช้หรือจะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้าเพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น” ย่อมเห็นได้ว่า วัตถุประสงค์ของการใช้เครื่องหมายการค้าตามบทบัญญัติดังกล่าวคือการใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าเพื่อแยกความแตกต่างระหว่างสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้าของผู้อื่นและเพื่อระบุว่าสินค้านั้นเป็นของเจ้าของเครื่องหมายการค้าดังกล่าว ซึ่งเป็นประโยชน์แก่เจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นในการจำหน่ายสินค้าของตน เพราะการใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าเช่นนี้ย่อมทำให้ประชาชนที่นิยมเชื่อถือในสินค้าและเครื่องหมายการค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นได้อาศัยเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในการพิจารณาเลือกซื้อสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นได้ถูกต้องตามความประสงค์ของตน และการที่มีผู้ซื้อสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้าเพื่อนำไปจำหน่ายต่อไปก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาในการประกอบการค้า

ดังนี้ เมื่อบริษัท ก  ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “W” ได้จำหน่ายสินค้าปัตตะเลี่ยนของตนไปในครั้งแรกซึ่งเป็นการใช้สิทธิแต่ผู้เดียวในการใช้เครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้าปัตตะเลี่ยนของตนเพื่อประโยชน์ในการจำหน่ายสินค้าโดยบริษัท ก  ได้รับประโยชน์จากการใช้เครื่องหมายการค้าจากราคาสินค้าปัตตะเลี่ยนที่ได้จำหน่ายไปเสร็จสิ้นแล้ว  บริษัท ก  จึงไม่มีสิทธิหวงกันไม่ให้ผู้ซื้อสินค้าปัตตะเลี่ยนซึ่งประกอบการค้าตามปกตินำสินค้าปัตตะเลี่ยนแท้จริงที่ซื้อมาออกจำหน่ายต่อไปอีก แม้กล่องบรรจุสินค้าปัตตะเลี่ยนของบริษัท ก  ที่บริษัท ค ซื้อและนำมาจำหน่ายจะมีซองกระดาษที่มีเครื่องหมายการค้าของบริษัท ก  ห่อหุ้มกล่อง กับข้อความว่า “ของแท้ต้องมีใบรับประกัน1 ปี” และมีใบรับประกันที่มีเครื่องหมายการค้าเดียวกันระบุชื่อที่อยู่ของบริษัท ง ว่าเป็นศูนย์บริการ ก็ยังคงเป็นการแสดงว่า สินค้าปัตตะเลี่ยนที่อยู่ในกล่องหรือหีบห่อนั้นเป็นของบริษัท ก  อยู่นั่นเอง โดยบริษัท ง เป็นเพียงแต่ผู้ให้บริการรับซ่อมปัตตะเลี่ยนเท่านั้น มิได้มีลักษณะเป็นการใช้ข้อความหรือเครื่องหมายที่แสดงว่าสินค้าดังกล่าวเป็นของบริษัท ง หรือเป็นของบริษัท ค ผู้นำมาจำหน่ายแต่อย่างใด การกระทำของบริษัท ค จึงไม่เป็นการใช้เครื่องหมายการค้าอันเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของบริษัท ก  ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าบริษัท ค ละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของบริษัท ก  และพิพากษาให้บริษัท ค ชดใช้ค่าเสียหายแก่บริษัท ก  ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย  พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องของบริษัท ก  

ที่มา     คำพิพากษาฎีกา ที่ 297/2546

นายสุวิชัย  อินทร

สำนักกฎหมาย

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

error: Content is protected !!