พระราชบัญญัติ เครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔

sale-TradeMark.png

พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า

พ.ศ. 2534

                               

 

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2534

เป็นปีที่ 46 ในรัชกาลปัจจุบัน

          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

          โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้า

          จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

 

มาตรา 1  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534”

 

มาตรา 2(1) พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

มาตรา 3  ให้ยกเลิก

(1) พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช 2474

(2) พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2504

บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน

 

มาตรา 4  ในพระราชบัญญัตินี้

“เครื่องหมาย” หมายความว่า ภาพถ่าย ภาพวาด ภาพประดิษฐ์ ตรา ชื่อ คำ ตัวหนังสือ ตัวเลข ลายมือชื่อ หรือสิ่งเหล่านี้อย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างรวมกัน แต่ไม่หมายความรวมถึงแบบผลิตภัณฑ์ตามกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตร

“เครื่องหมายการค้า” หมายความว่า เครื่องหมายที่ใช้หรือจะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้า เพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น

“เครื่องหมายบริการ” หมายความว่า เครื่องหมายที่ใช้หรือจะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับบริการ เพื่อแสดงว่าบริการที่ใช้เครื่องหมายของเจ้าของเครื่องหมายบริการนั้นแตกต่างกับบริการที่ใช้เครื่องหมายบริการของบุคคลอื่น

“เครื่องหมายรับรอง” หมายความว่า เครื่องหมายที่เจ้าของเครื่องหมายรับรองใช้ หรือจะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการของบุคคลอื่น เพื่อเป็นการรับรองเกี่ยวกับแหล่งกำเนิด ส่วนประกอบวิธีการผลิต คุณภาพ หรือคุณลักษณะอื่นใดของสินค้านั้น หรือเพื่อรับรองเกี่ยวกับสภาพ คุณภาพ ชนิด หรือคุณลักษณะอื่นใดของบริการนั้น

“เครื่องหมายร่วม” หมายความว่า เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการที่ใช้หรือจะใช้โดยบริษัทหรือวิสาหกิจในกลุ่มเดียวกันหรือโดยสมาชิกของสมาคม สหกรณ์ สหภาพ สมาพันธ์ กลุ่มบุคคลหรือองค์กรอื่นใดของรัฐหรือเอกชน

“ผู้ได้รับอนุญาต” หมายความว่า ผู้ซึ่งได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้จากเจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการที่ได้จดทะเบียนแล้วให้ใช้เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการนั้น

“นายทะเบียน” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้เป็นนายทะเบียนเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมทะเบียนการค้า

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการเครื่องหมายการค้า

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา 5  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งนายทะเบียน ออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้และกำหนดกิจการอื่น กับออกประกาศ  ทั้งนี้ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงและประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

 

หมวด 1

เครื่องหมายการค้า

                               

ส่วนที่ 1

การขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

                               

 

มาตรา 6  เครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ ต้องประกอบด้วยลักษณะดังต่อไปนี้

(1) เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ

(2) เป็นเครื่องหมายการค้าที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัตินี้และ

(3) ไม่เป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่บุคคลอื่นได้จดทะเบียนไว้แล้ว

 

มาตรา 7  เครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ได้แก่ เครื่องหมายการค้าอันมีลักษณะที่ทำให้ประชาชน หรือผู้ใช้สินค้านั้นทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่น

เครื่องหมายการค้าที่ประกอบด้วยลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นสาระสำคัญดังต่อไปนี้ ให้ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ

(1) ชื่อตัว ชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดา ชื่อนิติบุคคล หรือชื่อในทางการค้าซึ่งแสดงโดยลักษณะพิเศษ

(2) คำหรือข้อความ อันไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง และไม่เป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

(3) ตัวหนังสือ ตัวเลข หรือคำ ที่ประดิษฐ์ขึ้น

(4) ลายมือชื่อของผู้ขอจดทะเบียนหรือของเจ้าของเดิมของกิจการของผู้ขอจดทะเบียน หรือลายมือชื่อของบุคคลอื่นโดยได้รับอนุญาตจากบุคคลนั้นแล้ว

(5) ภาพของผู้ขอจดทะเบียนหรือของบุคคลอื่น โดยได้รับอนุญาตจากบุคคลนั้นแล้ว หรือในกรณีที่บุคคลนั้นตายแล้ว โดยได้รับอนุญาตจากบุพการีผู้สืบสันดาน และคู่สมรสของบุคคลนั้น ถ้ามี แล้ว

(6) ภาพที่ประดิษฐ์ขึ้น

ชื่อ คำ หรือข้อความที่ไม่มีลักษณะตาม (1) หรือ (2) หากได้มีการจำหน่ายเผยแพร่ หรือโฆษณาสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นจนแพร่หลายแล้ว ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และพิสูจน์ได้ว่าได้ปฏิบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์นั้นแล้ว ก็ให้ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ

 

มาตรา 8  เครื่องหมายการค้าที่ประกอบด้วยลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ห้ามมิให้รับจดทะเบียน

(1) ตราแผ่นดิน เครื่องหมายราชการ ธงพระอิสริยยศ ธงราชการ หรือธงชาติของประเทศไทย

(2) เครื่องหมายประจำชาติหรือธงชาติของรัฐต่างประเทศ เครื่องหมาย หรือธงขององค์การระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นสมาชิก หรือที่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายทั่วไป เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ของรัฐต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศนั้น

(3) พระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย พระปรมาภิไธยย่อหรือพระนามาภิไธยย่อ

(4) พระบรมฉายาลักษณ์หรือพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระมหากษัตริย์พระราชินี หรือรัชทายาท

(5) พระราชลัญจกร ลัญจกรในราชการ หรือตราประจำตำแหน่ง

(6) ตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์

(7) เครื่องหมายกาชาด นามกาชาด หรือกาเจนีวา

(8) เครื่องหมายที่เหมือนหรือคล้ายกับเหรียญ ใบสำคัญ หนังสือรับรอง ประกาศนียบัตร หรือเครื่องหมายอื่นใด อันได้ให้เป็นรางวัลในการแสดงหรือประกวดสินค้าที่รัฐบาลไทย ส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจของประเทศไทย รัฐบาลต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ ได้จัดให้มีขึ้น เว้นแต่ผู้ขอจดทะเบียนจะได้รับเหรียญ ใบสำคัญ หนังสือรับรอง ประกาศนียบัตร หรือเครื่องหมายเช่นว่านั้น เป็นรางวัลสำหรับสินค้านั้นและใช้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้านั้น

(9) เครื่องหมายที่คล้ายกับ (1) (2) (3) (5) (6) หรือ (7)

(10) เครื่องหมายที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือรัฐประศาสโนบาย

(11) เครื่องหมายที่เหมือนกับเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป หรือคล้ายกับเครื่องหมายดังกล่าวจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าไม่ว่าจะได้จดทะเบียนไว้แล้วหรือไม่ก็ตาม

(12) เครื่องหมายอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

 

มาตรา 9  การขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น จะขอจดทะเบียนสำหรับสินค้าเฉพาะอย่างในจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันก็ได้ แต่ต้องระบุรายการสินค้าที่ประสงค์จะได้รับความคุ้มครองแต่ละอย่างโดยชัดแจ้ง

คำขอจดทะเบียนฉบับหนึ่ง จะขอจดทะเบียนสำหรับสินค้าต่างจำพวกกันมิได้

การกำหนดจำพวกสินค้า ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

 

มาตรา 10  เครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้นั้น ผู้ขอจดทะเบียนเพื่อเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นหรือตัวแทน ต้องมีสำนักงานหรือสถานที่ที่นายทะเบียนสามารถติดต่อได้ตั้งอยู่ในประเทศไทย

 

มาตรา 11  การขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา 12  ในการพิจารณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้นายทะเบียนมีอำนาจดังต่อไปนี้

(1) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกผู้ขอจดทะเบียนมาให้ถ้อยคำ หรือทำคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานใดเกี่ยวกับการขอจดทะเบียน เพื่อตรวจสอบหรือเพื่อประกอบการพิจารณาได้

(2) สั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนแปลเอกสารหรือหลักฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับการขอจดทะเบียนที่เป็นภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยให้เสร็จและส่งภายในกำหนดเวลาที่เห็นสมควร

(3) เชิญบุคคลใดมาให้ข้อเท็จจริง คำอธิบาย คำแนะนำหรือความเห็น

หากผู้ขอจดทะเบียนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนตาม (1) หรือ (2) โดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ถือว่าละทิ้งคำขอจดทะเบียน

 

มาตรา 13  ภายใต้บังคับมาตรา 27 ในกรณีที่เครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนนั้น นายทะเบียนเห็นว่า

(1) เป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว หรือ

(2) เป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า

ถ้าเป็นการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกัน หรือต่างจำพวกกันที่นายทะเบียนเห็นว่ามีลักษณะอย่างเดียวกัน ห้ามมิให้นายทะเบียนรับจดทะเบียน

 

มาตรา 14  ในกรณีที่เครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนนั้น จะใช้สำหรับสินค้าจำพวกเดียวกัน หรือต่างจำพวกกันที่นายทะเบียนเห็นว่ามีลักษณะอย่างเดียวกัน กับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าอีกเครื่องหมายหนึ่งที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว หรือที่อยู่ในระหว่างการขอจดทะเบียนของเจ้าของเดียวกันถ้านายทะเบียนเห็นว่า เครื่องหมายการค้าเหล่านั้นเหมือนกันหรือคล้ายกันจนถึงกับว่า ถ้าหากบุคคลอื่นจะเป็นผู้ใช้เครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนนั้นแล้วก็อาจจะเป็นการทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้ าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเหล่านั้นเป็นเครื่องหมายชุด และมีหนังสือแจ้งคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนทราบโดยไม่ชักช้า

 

มาตรา 15  ถ้านายทะเบียนเห็นว่า

(1) ส่วนหนึ่งส่วนใดอันมิใช่สาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนรายใด ไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 หรือ

(2) การขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายใดไม่ชอบด้วยมาตรา 9  หรือมาตรา 10 หรือไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงตามมาตรา 11

ให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้น แก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งนั้น และมีหนังสือแจ้งคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนทราบโดยไม่ชักช้า

 

          มาตรา 16  ถ้านายทะเบียนเห็นว่าเครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนรายใดทั้งเครื่องหมายหรือส่วนหนึ่งส่วนใดอันเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้านั้น ไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 ให้นายทะเบียนมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้น และมีหนังสือแจ้งคำสั่งพร้อมด้วยเหตุผลให้ผู้ขอจดทะเบียนทราบโดยไม่ชักช้า

 

มาตรา 17  ถ้านายทะเบียนเห็นว่าเครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนรายใด หากพิจารณาทั้งเครื่องหมายแล้ว มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 แต่เครื่องหมายการค้ารายนั้นมีส่วนหนึ่งส่วนใดหรือหลายส่วน เป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายสำหรับสินค้าบางอย่างหรือบางจำพวก อันไม่ควรให้ผู้ขอจดทะเบียนรายหนึ่งรายใดถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวก็ดี หรือมีลักษณะไม่บ่งเฉพาะก็ดี ให้นายทะเบียนมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(1) สั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนแสดงปฏิเสธว่า ไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียว ในอันที่จะใช้ส่วนดังกล่าวของเครื่องหมายการค้ารายนั้น  ทั้งนี้ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งนั้น

(2) สั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนแสดงปฏิเสธอย่างอื่น ตามที่นายทะเบียนเห็นว่าจำเป็นต่อการกำหนดสิทธิจากการจดทะเบียนของเจ้าของเครื่องหมายการค้ารายนั้น  ทั้งนี้ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งนั้น

เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนมีอำนาจประกาศกำหนดสิ่งที่นายทะเบียนเห็นว่า เป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายสำหรับสินค้าบางอย่างหรือบางจำพวก

ให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งคำสั่งตามวรรคหนึ่งพร้อมด้วยเหตุผลให้ผู้ขอจดทะเบียนทราบโดยไม่ชักช้า

 

          มาตรา 18  ผู้ขอจดทะเบียนมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา 14 มาตรา 15 มาตรา 16 และมาตรา 17 ต่อคณะกรรมการภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งของนายทะเบียน คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด

ถ้าคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ว่า คำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา 14 ถูกต้องแล้ว ให้นายทะเบียนดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนรายนั้นต่อไป

ถ้าคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ว่า คำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา 15 หรือมาตรา 17 ถูกต้องแล้ว ให้ผู้ขอจดทะเบียนปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ

ถ้าคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ว่า คำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา 14 มาตรา 15 มาตรา 16 หรือมาตรา 17 ไม่ถูกต้อง ให้นายทะเบียนดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนรายนั้นต่อไป

 

มาตรา 19  ถ้าผู้ขอจดทะเบียนมิได้อุทธรณ์ตามมาตรา 18 วรรคหนึ่งและมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา 15 หรือมาตรา 17 แล้วแต่กรณี หรือถ้าผู้ขอจดทะเบียนได้อุทธรณ์ตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แต่มิได้ปฏิบัติตามมาตรา 18 วรรคสาม ให้ถือว่าละทิ้งคำขอจดทะเบียน

 

มาตรา 20  ภายใต้บังคับมาตรา 21 มาตรา 22 มาตรา 23 มาตรา 24 มาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 35 และมาตรา 41 ในกรณีที่มีผู้ขอจดทะเบียนหลายรายต่างยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่นายทะเบียนเห็นว่า เหมือนกัน หรือที่นายทะเบียนเห็นว่าคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า  ทั้งนี้ สำหรับสินค้าจำพวกเดียวกัน หรือต่างจำพวกกันที่นายทะเบียนเห็นว่ามีลักษณะอย่างเดียวกัน ผู้ขอจดทะเบียนซึ่งยื่นคำขอไว้เป็นรายแรกย่อมเป็นผู้มีสิทธิได้รับการจดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น

 

มาตรา 21  ในบรรดาเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันตามมาตรา 20 นั้น ถ้านายทะเบียนเห็นว่าเครื่องหมายการค้าเหล่านั้นต่างก็เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6  และคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเหล่านั้นต่างก็ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนเหล่านั้นปฏิบัติตามมาตรา 24 และมีหนังสือแจ้งคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนเหล่านั้นทราบโดยไม่ชักช้า

ผู้ขอจดทะเบียนซึ่งเห็นว่าเครื่องหมายการค้าที่ตนขอจดทะเบียนนั้นมิได้เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้ารายอื่นตามมาตรา 20 มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนตามวรรคหนึ่งต่อคณะกรรมการภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งของนายทะเบียน  ทั้งนี้ ให้นำมาตรา 18 และมาตรา 19 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

มาตรา 22  ในบรรดาเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันตามมาตรา 20 นั้น ถ้านายทะเบียนเห็นว่าเครื่องหมายการค้าบางรายเข้าข่ายมาตรา 15 (1) หรือ (2) หรือมาตรา 17 แต่เครื่องหมายการค้าบางรายมีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 และคำขอจดทะเบียนก็ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายที่เข้าข่ายมาตรา 15 (1) หรือ (2) หรือมาตรา 17 ปฏิบัติตามมาตรา 15 หรือมาตรา 17 แล้วแต่กรณี และให้รอการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายที่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้และคำขอจดทะเบียนที่ถูกต้องนั้นไว้ก่อน  ทั้งนี้ ให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนเหล่านั้นทราบโดยไม่ชักช้า และให้นำมาตรา 21 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ถ้าปรากฏว่าผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายที่นายทะเบียนเห็นว่าเข้าข่ายมาตรา 15 (1) หรือ (2) หรือมาตรา 17 ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา 15 แล้ว หรือได้อุทธรณ์ตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง และคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ว่าคำสั่งของนายทะเบียนไม่ถูกต้องให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนรายนั้น และผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายที่นายทะเบียนให้รอการจดทะเบียนไว้ตามวรรคหนึ่งปฏิบัติตามมาตรา 24 และมีหนังสือแจ้งคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนเหล่านั้นทราบโดยไม่ชักช้า

ถ้าปรากฏว่าผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายที่นายทะเบียนเห็นว่าเข้าข่ายมาตรา 15 (1) หรือ (2) หรือมาตรา 17 ได้ละทิ้งคำขอจดทะเบียนตามมาตรา 19 ทุกราย

(1) ในกรณีที่มีผู้ขอจดทะเบียนรายที่นายทะเบียนให้รอการจดทะเบียนไว้ตามวรรคหนึ่งหลายราย ให้นายทะเบียน

มีคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนเหล่านั้นปฏิบัติตามมาตรา 24 และมีหนังสือแจ้งคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนเหล่านั้นทราบโดยไม่ชักช้า

(2) ในกรณีที่มีผู้ขอจดทะเบียนรายที่นายทะเบียนให้รอการจดทะเบียนไว้ตามวรรคหนึ่งเพียงรายเดียว ให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้ประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้นต่อไปตามมาตรา 29

 

มาตรา 23  ในบรรดาเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันตามมาตรา 20 นั้น ถ้านายทะเบียนเห็นว่าเครื่องหมายการค้าเหล่านั้นทุกรายเข้าข่ายมาตรา 15 (1) หรือ (2) หรือมาตรา 17 ให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเหล่านั้นปฏิบัติตามมาตรา 15 หรือมาตรา 17 แล้วแต่กรณี และรอการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเหล่านั้นไว้ก่อน  ทั้งนี้ ให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนเหล่านั้นทราบโดยไม่ชักช้า และให้นำมาตรา 21 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ถ้าปรากฏว่าผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเช่นว่านั้นหลายราย ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา 15 หรือมาตรา 17 แล้ว หรือได้อุทธรณ์ตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง และคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ว่าคำสั่งของนายทะเบียนไม่ถูกต้อง ให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนเหล่านั้นปฏิบัติตามมาตรา 24 และมีหนังสือแจ้งคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนเหล่านั้นทราบโดยไม่ชักช้า แต่ถ้าปรากฏว่ามีผู้ขอจดทะเบียนเช่นว่านั้นเพียงรายเดียวที่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา 15 หรือมาตรา 17 หรือได้อุทธรณ์ตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง และคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ว่าคำสั่งของนายทะเบียนไม่ถูกต้อง ให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้ประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้นต่อไปตามมาตรา 29

 

มาตรา 24  ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง มาตรา 22 วรรคสองหรือวรรคสาม (1) หรือมาตรา 23 วรรคสอง ให้ผู้ขอจดทะเบียนซึ่งได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งดังกล่าวตกลงกันว่าจะให้รายหนึ่งรายใดเป็นผู้ขอจดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นแต่ผู้เดียว และให้ผู้ขอจดทะเบียนรายหนึ่งรายใดมีหนังสือแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายในกำหนดเวลาดังกล่าวว่าตกลงกันได้หรือไม่

 

มาตรา 25  ในกรณีที่นายทะเบียนได้รับแจ้งภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 24 ว่าผู้ขอจดทะเบียนตกลงกันได้แล้วว่าจะให้รายใดเป็นผู้ขอจดทะเบียน ให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้ประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนของผู้ขอจดทะเบียนรายนั้นต่อไปตามมาตรา 29

ในกรณีที่นายทะเบียนได้รับแจ้งภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 24 ว่าผู้ขอจดทะเบียนตกลงกันไม่ได้ หรือมิได้รับแจ้งภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้ประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ของผู้ขอจดทะเบียนซึ่งยื่นคำขอจดทะเบียนไว้เป็นรายแรก หรือเป็นรายแรกในบรรดาผู้ขอจดทะเบียนซึ่งยังมิได้ละทิ้งคำขอจดทะเบียน แล้วแต่กรณี ต่อไปตามมาตรา 29

 

มาตรา 26  ในกรณีที่นายทะเบียนได้มีหนังสือแจ้งคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนปฏิบัติตามมาตรา 24 แล้ว ถ้ามีผู้ขอจดทะเบียนรายอื่นยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่นายทะเบียนเห็นว่า เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนเหล่านั้น หรือที่นายทะเบียนเห็นว่าคล้ายกับเครื่องหมายการค้าเช่นว่านั้น  จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้า หรือแหล่งกำเนิดของสินค้า  ทั้งนี้ สำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่นายทะเบียนเห็นว่ามีลักษณะอย่างเดียวกัน ให้นายทะเบียนมีคำสั่งไม่รับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น และมีหนังสือแจ้งคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนนั้นทราบโดยไม่ชักช้า และให้นำมาตรา 21 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

มาตรา 27  ในกรณีที่มีผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น

ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วตามมาตรา 13 หรือในกรณีที่มีผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกัน ตามมาตรา 20  ทั้งนี้ สำหรับสินค้าจำพวกเดียวกัน หรือต่างจำพวกกันที่นายทะเบียนเห็นว่ามีลักษณะอย่างเดียวกัน ถ้านายทะเบียนเห็นว่าเป็นเครื่องหมายการค้า ซึ่งต่างเจ้าของต่างได้ใช้มาแล้วด้วยกันโดยสุจริต หรือมีพฤติการณ์พิเศษที่นายทะเบียนเห็นสมควรรับจดทะเบียน นายทะเบียนจะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันดังกล่าว ให้แก่เจ้าของหลายคนก็ได้ โดยจะมีเงื่อนไขและข้อจำกัดเกี่ยวกับวิธีการใช้และเขตแห่งการใช้เครื่องหมายการค้านั้น หรือเงื่อนไข และข้อจำกัดอื่นตามที่นายทะเบียนเห็นสมควรกำหนดด้วยก็ได้  ทั้งนี้ ให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งคำสั่งพร้อมด้วยเหตุผลให้ผู้ขอจดทะเบียนและเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วทราบโดยไม่ชักช้า

ผู้ขอจดทะเบียนหรือเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้ว มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนตามวรรคหนึ่งต่อคณะกรรมการภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งของนายทะเบียน

คำวินิจฉัยของคณะกรรมการตามวรรคสองให้เป็นที่สุด

 

         มาตรา 28  เครื่องหมายการค้าใดได้มีการยื่นคำขอจดทะเบียนครั้งแรกในต่างประเทศ ถ้าต่อมาได้มีการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นในประเทศไทยภายในหกเดือนนับแต่วันที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนครั้งแรก ให้ถือว่าวันที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนครั้งแรกในต่างประเทศนั้นเป็นวันยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทย หากประเทศที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นครั้งแรกดังกล่าว ให้สิทธิทำนองเดียวกันแก่บุคคลที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ทางธุรกิจที่แท้จริงในประเทศไทยและบุคคลที่มีสัญชาติไทย

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ประเทศที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นครั้งแรกต้องเป็นประเทศที่ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีสำนักงานแห่งใหญ่ทางธุรกิจที่แท้จริงหรือประเทศที่ผู้นั้นมีภูมิลำเนาหรือประเทศที่ผู้นั้นมีสัญชาติ

 

ส่วนที่ 2

การรับจดทะเบียนและผลแห่งการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

                               

 

มาตรา 29  เมื่อนายทะเบียนพิจารณาแล้วเห็นควรรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายใด ให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้ประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้น

เมื่อได้มีคำสั่งให้ประกาศโฆษณาตามวรรคหนึ่งแล้ว  ให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนทราบและให้ชำระค่าธรรมเนียมการประกาศโฆษณาภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับหนังสือแจ้งคำสั่ง  ถ้าผู้ขอจดทะเบียนไม่ชำระค่าธรรมเนียมภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าละทิ้งคำขอจดทะเบียน

การประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียน ให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา 30  เมื่อนายทะเบียนได้มีคำสั่งให้ประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายใด ตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง แล้ว หากปรากฏแก่นายทะเบียนในภายหลังว่า เครื่องหมายการค้ารายนั้นไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 ก็ดี หรือการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้นไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้  อันจำเป็นจะต้องเพิกถอนคำสั่งให้ประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้นก็ดี  ถ้ายังมิได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้นให้นายทะเบียนมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว  และมีหนังสือแจ้งคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนทราบพร้อมด้วยเหตุผลโดยไม่ชักช้า

ในกรณีที่นายทะเบียนมีคำสั่งเพิกถอนตามวรรคหนึ่ง หลังจากที่ได้มีการประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนตามมาตรา 29 แล้ว ให้ประกาศโฆษณาคำสั่งเพิกถอนนั้นด้วยตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา 31  ผู้ขอจดทะเบียนมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนของนายทะเบียนตามมาตรา  30  วรรคหนึ่ง  ต่อคณะกรรมการ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งของนายทะเบียน

ในกรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนมิได้อุทธรณ์คำสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้คืนค่าธรรมเนียมการประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้แก่ผู้ขอจดทะเบียน

ถ้าคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ว่า คำสั่งเพิกถอนของนายทะเบียนถูกต้องแล้ว ให้คณะกรรมการสั่งให้คืนค่าธรรมเนียมการประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้แก่ผู้ขอจดทะเบียนด้วย

ถ้าคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ว่า คำสั่งเพิกถอนของนายทะเบียนไม่ถูกต้องให้นายทะเบียน

(1) ดำเนินการประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้นต่อไป ในกรณีที่นายทะเบียนได้มีคำสั่งเพิกถอนตามมาตรา 30 วรรคหนึ่งก่อนที่จะมีประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 29

(2) ดำเนินการประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้นใหม่  โดยผู้ขอจดทะเบียนไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการประกาศโฆษณาดังกล่าวอีก  ในกรณีที่ได้มีการประกาศโฆษณาคำสั่งเพิกถอนของนายทะเบียนตามมาตรา 30 วรรคสองแล้ว

คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการตามวรรคสามหรือวรรคสี่ให้เป็นที่สุด

 

          มาตรา 32  ในกรณีที่นายทะเบียนมีคำสั่งเพิกถอนตามมาตรา 30 หลังจากที่ได้มีการคัดค้านตามมาตรา 35 แล้วให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งคำสั่งเพิกถอนนั้นให้ผู้คัดค้านทราบโดยไม่ชักช้า

 

มาตรา 33  ในกรณีตามมาตรา 32 ถ้านายทะเบียนยังมิได้มีคำวินิจฉัยคำคัดค้านนั้น ให้รอการวินิจฉัยไว้ก่อน จนกว่าจะพ้นกำหนดเวลาการอุทธรณ์ตามมาตรา 31 วรรคหนึ่ง หรือจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการตามมาตรา 31 วรรคสามหรือวรรคสี่ แล้วแต่กรณี

ถ้าคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ว่า คำสั่งเพิกถอนของนายทะเบียนตามมาตรา 30 ถูกต้องแล้ว ให้นายทะเบียนมีคำสั่งไม่รับคำคัดค้านนั้นและมีหนังสือแจ้งคำสั่งให้ผู้คัดค้านทราบโดยไม่ชักช้า คำสั่งเช่นว่านี้ให้เป็นที่สุด

ถ้าคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ว่า คำสั่งเพิกถอนของนายทะเบียนตามมาตรา 30 ไม่ถูกต้อง ให้นายทะเบียนดำเนินการวินิจฉัยคำคัดค้านนั้นต่อไป

 

มาตรา 34  ในกรณีตามมาตรา 32 ถ้านายทะเบียนได้มีคำวินิจฉัยคำคัดค้านนั้นแล้ว และมีการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนตามมาตรา 37  ให้นายทะเบียนแจ้งให้คณะกรรมการทราบ และให้นำมาตรา 33 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

มาตรา 35  เมื่อได้ประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายใดตามมาตรา 29 แล้ว บุคคลใดเห็นว่าตนมีสิทธิดีกว่าผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้น หรือเห็นว่าเครื่องหมายการค้ารายนั้นไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 หรือการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้นไม่ถูกต้อง ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ บุคคลนั้นจะยื่นคำคัดค้านต่อนายทะเบียนก็ได้ แต่ต้องยื่นภายในเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศโฆษณาตามมาตรา 29 พร้อมทั้งแสดงเหตุแห่งการคัดค้าน

การคัดค้านตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา 36  ในกรณีที่มีการคัดค้านตามมาตรา 35 ให้นายทะเบียนส่งสำเนาคำคัดค้านไปยังผู้ขอจดทะเบียนโดยไม่ชักช้า และให้ผู้ขอจดทะเบียนยื่นคำโต้แย้งคำคัดค้าน โดยแสดงเหตุที่ตนอาศัยเป็นหลักในการขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำคัดค้าน

ในกรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนมิได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าละทิ้งคำขอจดทะเบียน

ในกรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้นายทะเบียนส่งสำเนาคำโต้แย้งนั้นไปยังผู้คัดค้านโดยไม่ชักช้า ก่อนที่จะมีคำวินิจฉัยนายทะเบียนจะมีคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนและผู้คัดค้านมาให้ถ้อยคำ ทำคำชี้แจงหรือแสดงพยานหลักฐานเพิ่มเติมก็ได้

 

มาตรา 37  เมื่อนายทะเบียนได้มีคำวินิจฉัยแล้ว ให้มีหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยพร้อมด้วยเหตุผลให้ผู้ขอจดทะเบียนและผู้คัดค้านทราบโดยไม่ชักช้า

ผู้ขอจดทะเบียนหรือผู้คัดค้านมีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนต่อคณะกรรมการ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของนายทะเบียน ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นโดยไม่ชักช้า

 

มาตรา 38  เมื่อคณะกรรมการได้มีคำวินิจฉัยแล้ว ให้มีหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยพร้อมด้วยเหตุผลให้ผู้ขอจดทะเบียนและผู้คัดค้านทราบโดยไม่ชักช้า

ผู้ขอจดทะเบียนหรือผู้คัดค้านมีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการ โดยฟ้องคดีต่อศาลภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ

การฟ้องคดีตามวรรคสอง จะกระทำได้ต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามขั้นตอนตามมาตรา 37 วรรคสอง แล้ว

 

มาตรา 39  ในกรณีที่มิได้มีการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 37 วรรคสอง หรือมิได้มีการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 38 วรรคสอง ให้ถือว่าคำวินิจฉัยของนายทะเบียนหรือของคณะกรรมการ แล้วแต่กรณี เป็นที่สุด

 

มาตรา 40  ในกรณีที่ไม่มีการคัดค้านตามมาตรา 35 ก็ดี หรือมีการคัดค้านตามมาตรา 35 แต่ได้มีคำวินิจฉัย หรือคำพิพากษา หรือคำสั่งถึงที่สุดให้ผู้ขอจดทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิจดทะเบียนก็ดี ให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้

เมื่อได้มีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนทราบ และให้ชำระค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่ง ถ้าผู้ขอจดทะเบียนไม่ชำระค่าธรรมเนียมภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าละทิ้งคำขอจดทะเบียน

การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา 41  ในกรณีที่ผู้คัดค้านตามมาตรา 35 เป็นผู้ซึ่งได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่ตนคัดค้านนั้น และมีคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดว่าผู้คัดค้านมีสิทธิดีกว่าผู้ถูกคัดค้าน ถ้าเครื่องหมายการค้าที่ผู้คัดค้านขอจดทะเบียนนั้นมีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 และการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้  ให้นายทะเบียนจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น ตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยไม่ต้องประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านอีก

 

มาตรา 42  เมื่อได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายใดแล้วให้ถือว่าวันที่ยื่นคำขอจดทะเบียนหรือวันที่ถือว่าเป็นวันยื่นคำขอจดทะเบียนตามมาตรา 28 เป็นวันที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้น

 

มาตรา 43  เมื่อได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้วให้นายทะเบียนออกหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนให้แก่

ผู้ขอจดทะเบียนตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง

ถ้าหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนชำรุดในสาระสำคัญ หรือสูญหายเจ้าของเครื่องหมายการค้าจะยื่นคำขอรับใบแทนหนังสือสำคัญดังกล่าวต่อนายทะเบียนก็ได้

การออกใบแทนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา 44  ภายใต้บังคับมาตรา 27 และมาตรา 68 เมื่อได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว ผู้ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า เป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นสำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้

 

มาตรา 45  เครื่องหมายการค้าอันได้จดทะเบียนไว้โดยมิได้จำกัดสีนั้น ให้ถือว่าได้จดทะเบียนไว้ทุกสี

 

มาตรา 46  บุคคลใดจะฟ้องคดี เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียน หรือเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดสิทธิดังกล่าวไม่ได้

บทบัญญัติมาตรานี้ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียน ในอันที่จะฟ้องคดีบุคคลอื่นซึ่งเอาสินค้าของตนไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น

 

มาตรา 47  การจดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ไม่เป็นการขัดขวางบุคคลใด ในการใช้โดยสุจริตซึ่งชื่อตัว ชื่อสกุล หรือชื่อสำนักงานการค้าของตนหรือของเจ้าของเดิมของกิจการของตนหรือไม่เป็นการขัดขวางบุคคลใดในการใช้คำบรรยายโดยสุจริตซึ่งลักษณะหรือคุณสมบัติแห่งสินค้าของตน

 

ส่วนที่ 3

การแก้ไขเปลี่ยนแปลงการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

                               

 

           มาตรา 48  สิทธิในคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ได้ยื่นไว้แล้ว ย่อมโอนหรือรับมรดกกันได้

ในกรณีที่มีการโอนสิทธิในคำขอจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้โอนหรือผู้รับโอนแจ้งให้นายทะเบียนทราบก่อนการจดทะเบียน

ในกรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนตาย ให้ทายาทคนหนึ่งคนใด หรือผู้จัดการมรดกแจ้งให้นายทะเบียนทราบก่อนการจดทะเบียน เพื่อดำเนินการรับมรดกสิทธิในคำขอจดทะเบียนนั้นต่อไป

การโอนหรือการรับมรดกสิทธิในคำขอจดทะเบียนตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดใน

กฎกระทรวง

 

มาตรา 49  สิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วย่อมโอนหรือรับมรดกกันได้  ทั้งนี้ จะเป็นการโอนหรือ

รับมรดกพร้อมกับกิจการที่เกี่ยวกับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วหรือไม่ก็ได้

 

มาตรา 50  เครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้เป็นเครื่องหมายชุดนั้น จะโอนหรือรับมรดกกันได้ต่อเมื่อเป็นการโอนหรือรับมรดกกันทั้งชุด

 

มาตรา 51  การโอนหรือการรับมรดกสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้ว ต้องจดทะเบียนต่อนายทะเบียน

การขอจดทะเบียนการโอนหรือการรับมรดกสิทธิในเครื่องหมายการค้าตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา 52  เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วอาจขอให้นายทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการการจดทะเบียนได้เฉพาะในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) ยกเลิกรายการสินค้าบางอย่างที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว

(2) ชื่อ สัญชาติ ที่อยู่ และอาชีพของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นและของตัวแทน ถ้ามี

(3) สำนักงานหรือสถานที่ที่นายทะเบียนสามารถติดต่อได้

(4) รายการอื่นใดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

การขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดใน

กฎกระทรวง

 

ส่วนที่ 4

การต่ออายุและการเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

                  

 

มาตรา 53  การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้มีอายุสิบปีนับแต่วันที่จดทะเบียนตามมาตรา 42 และอาจต่ออายุได้ตามมาตรา 54

อายุการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามวรรคหนึ่ง มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างการดำเนินคดีทางศาลตามมาตรา 38 ด้วย

 

มาตรา 54  เจ้าของเครื่องหมายการค้าใดประสงค์จะต่ออายุการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของตน ให้ยื่นคำขอต่ออายุต่อนายทะเบียนภายในเก้าสิบวันก่อนวันสิ้นอายุ เมื่อได้ยื่นคำขอต่ออายุภายในกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าเครื่องหมายการค้านั้นยังคงจดทะเบียนอยู่จนกว่านายทะเบียนจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

การขอต่ออายุการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา 55  ในกรณีที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าได้ยื่นคำขอต่ออายุภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 54 วรรคหนึ่ง และนายทะเบียนเห็นว่าการขอต่ออายุเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงตามมาตรา 54 วรรคสอง ให้นายทะเบียนต่ออายุการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นอีกสิบปี นับแต่วันสิ้นอายุการจดทะเบียนเดิมหรือนับแต่วันสิ้นอายุการจดทะเบียนที่ได้ต่อไว้ครั้งสุดท้าย แล้วแต่กรณี

ในกรณีที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าได้ยื่นคำขอต่ออายุภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 54 วรรคหนึ่ง แต่นายทะเบียนเห็นว่าการขอต่ออายุไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงตามมาตรา 54 วรรคสอง ให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้เจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งนั้น และมีหนังสือแจ้งคำสั่งให้เจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นทราบโดยไม่ชักช้า ถ้าเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้นายทะเบียนสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น

ในกรณีที่เจ้าของเครื่องหมายการค้ามีเหตุจำเป็นจนไม่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนภายในกำหนดเวลาตามวรรคสองได้ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งขยายกำหนดเวลาดังกล่าวออกไปได้ตามความจำเป็นแก่กรณี

 

มาตรา 56  ในกรณีที่เจ้าของเครื่องหมายการค้ามิได้ยื่นคำขอต่ออายุภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 54 วรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเครื่องหมายการค้านั้นได้ถูกเพิกถอนการจดทะเบียนแล้ว

 

มาตรา 57  เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วอาจร้องขอต่อนายทะเบียนให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของตนเองได้ แต่ในกรณีที่มีการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้น การเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นต้องได้รับความยินยอมจากผู้ได้รับอนุญาตด้วย เว้นแต่สัญญาอนุญาตดังกล่าวจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

การขอเพิกถอนการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา 58  ในกรณีที่ปรากฏต่อนายทะเบียนว่า เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วฝ่าฝืนหรือมิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือข้อจำกัดที่นายทะเบียนกำหนดในการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น

 

มาตรา 59  ถ้าเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วหรือตัวแทนเลิกตั้งสำนักงาน หรือสถานที่ที่ได้จดทะเบียนไว้ในประเทศไทยแล้วให้นายทะเบียนสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น

ในกรณีที่นายทะเบียนมีเหตุอันควรเชื่อว่า เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วหรือตัวแทนเลิกตั้งสำนักงานหรือสถานที่ที่ได้จดทะเบียนไว้ในประเทศไทยแล้ว ให้นายทะเบียนแจ้งเป็นหนังสือไปยังเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นหรือตัวแทน ณ สำนักงานหรือสถานที่ที่ได้จดทะเบียนไว้ ให้ชี้แจงเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากนายทะเบียน

ถ้านายทะเบียนไม่ได้รับคำตอบภายในกำหนดเวลาตามวรรคสอง ให้ประกาศโฆษณาว่าจะเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

ถ้านายทะเบียนยังไม่ได้รับคำตอบภายในสิบห้าวันนับแต่วันประกาศโฆษณาตามวรรคสาม ให้นายทะเบียนสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น

 

มาตรา 60  เมื่อนายทะเบียนได้มีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 55 วรรคสอง มาตรา 58 หรือมาตรา 59 วรรคหนึ่งแล้ว ให้มีหนังสือแจ้งคำสั่งดังกล่าวพร้อมด้วยเหตุผลให้เจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นทราบโดยไม่ชักช้า

เจ้าของเครื่องหมายการค้ามีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียน ตามวรรคหนึ่งต่อคณะกรรมการภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งของนายทะเบียน ถ้าไม่อุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้ถือว่า คำสั่งของนายทะเบียนเป็นที่สุด

คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการตามวรรคสองให้เป็นที่สุด

 

มาตรา 61  ผู้มีส่วนได้เสียหรือนายทะเบียนอาจร้องขอต่อคณะกรรมการให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใดได้ หากแสดงได้ว่าเครื่องหมายการค้านั้นในขณะที่จดทะเบียนมิได้เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 หรือเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8

 

มาตรา 62  บุคคลใดเห็นว่าเครื่องหมายการค้าใดขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือรัฐประศาสโนบาย บุคคลนั้นอาจร้องขอต่อคณะกรรมการให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้

 

มาตรา 63  ผู้มีส่วนได้เสียหรือนายทะเบียนอาจร้องขอต่อคณะกรรมการให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใดได้ หากพิสูจน์ได้ว่าในขณะที่ขอจดทะเบียน เจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นมิได้ตั้งใจโดยสุจริตที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นสำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ และตามความจริงก็ไม่เคยมีการใช้เครื่องหมายการค้านั้นโดยสุจริตสำหรับสินค้าดังกล่าวเลย หรือในระหว่างสามปีก่อนที่จะมีคำร้องขอให้เพิกถอนมิได้มีการใช้เครื่องหมายการค้านั้นโดยสุจริตสำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้  ทั้งนี้ เว้นแต่เจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นจะพิสูจน์ได้ว่า การที่มิได้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นมีสาเหตุมาจากพฤติการณ์พิเศษในทางการค้า และมิได้มีสาเหตุมาจากความตั้งใจที่จะไม่ใช้หรือจะละทิ้งเครื่องหมายการค้านั้นสำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้

 

มาตรา 64  เมื่อได้รับคำร้องขอตามมาตรา 61 มาตรา 62 หรือมาตรา 63 ให้คณะกรรมการมีหนังสือแจ้งให้เจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นและผู้ได้รับอนุญาต ถ้ามี ทราบเพื่อยื่นคำชี้แจงของตน คำชี้แจงดังกล่าวให้ยื่นต่อคณะกรรมการภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากคณะกรรมการ

 

มาตรา 65  เมื่อคณะกรรมการได้มีคำสั่งเพิกถอนหรือไม่เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามมาตรา 61 มาตรา 62 หรือมาตรา 63  ให้มีหนังสือแจ้งคำสั่งดังกล่าวพร้อมด้วยเหตุผลให้ผู้ร้องขอให้เพิกถอน เจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น และผู้ได้รับอนุญาต ถ้ามี ทราบโดยไม่ชักช้า

ผู้ร้องขอให้เพิกถอน เจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น หรือผู้ได้รับอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่งต่อศาลภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งของคณะกรรมการถ้าไม่อุทธรณ์ภายในกำหนดเวลา

ดังกล่าว ให้ถือว่าคำสั่งของคณะกรรมการเป็นที่สุด

 

มาตรา 66  ผู้มีส่วนได้เสียหรือนายทะเบียนอาจร้องขอต่อศาลให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใดได้ หากแสดงได้ว่าในขณะที่ร้องขอนั้นเครื่องหมายการค้านั้น ได้กลายเป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายสำหรับสินค้าบางอย่างหรือบางจำพวก จนกระทั่งในวงการค้าหรือในสายตาของสาธารณชน เครื่องหมายการค้านั้นได้สูญเสียความหมายของการเป็นเครื่องหมายการค้าไปแล้ว

 

มาตรา 67  ภายในห้าปีนับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใดตามมาตรา 40 ผู้มีส่วนได้เสียอาจร้องขอต่อศาลให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้ หากแสดงได้ว่าตนมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าผู้ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น

ถ้าผู้ร้องแสดงได้แต่เพียงว่า ตนมีสิทธิดีกว่าเฉพาะสินค้าบางอย่างในจำพวกของสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ ให้ศาลมีคำสั่งจำกัดสิทธิแห่งการจดทะเบียนให้อยู่เฉพาะสินค้าที่ผู้ร้องไม่ได้แสดงว่าตนมีสิทธิดีกว่า

 

ส่วนที่ 5

การอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า

                               

 

มาตรา 68  เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้ว จะทำสัญญาอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้เครื่องหมายการค้าของตน สำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ทั้งหมดหรือบางอย่างก็ได้

สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าตามวรรคหนึ่ง ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อนายทะเบียน

การขอจดทะเบียนสัญญาอนุญาตดังกล่าวตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่คำขอจดทะเบียนนั้นอย่างน้อยต้องแสดงรายการดังต่อไปนี้

(1) เงื่อนไขหรือข้อกำหนดระหว่างเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น และผู้ขอจดทะเบียนเป็นผู้ได้รับอนุญาต ที่จะทำให้เจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น สามารถควบคุมคุณภาพของสินค้าของผู้ขอจดทะเบียนเป็นผู้ได้รับอนุญาตได้อย่างแท้จริง

(2) สินค้าที่จะได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้น

 

          มาตรา 69  ในกรณีที่นายทะเบียนเห็นว่าสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าตามมาตรา 68 จะไม่เป็นการทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิด และไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือรัฐประศาสโนบาย ให้นายทะเบียนมีคำสั่งรับจดทะเบียนสัญญาอนุญาตดังกล่าว โดยจะมีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดใดเพื่อประโยชน์ดังกล่าวก็ได้ แต่ถ้านายทะเบียนเห็นว่าสัญญาอนุญาตดังกล่าวจะเป็นการทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิด หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือรัฐประศาสโนบาย ให้นายทะเบียนมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนสัญญาอนุญาตดังกล่าว

เมื่อนายทะเบียนได้มีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้มีหนังสือแจ้งคำสั่งให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าและผู้ขอจดทะเบียนเป็นผู้ได้รับอนุญาตทราบโดยไม่ชักช้า ในกรณีที่นายทะเบียนได้มีคำสั่งรับจดทะเบียนโดยมีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดหรือมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนให้แจ้งเหตุผลให้บุคคลดังกล่าวทราบด้วย

เจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือผู้ขอจดทะเบียนเป็นผู้ได้รับอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียน ตามวรรคหนึ่งต่อคณะกรรมการภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งของนายทะเบียน ถ้าไม่อุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้ถือว่าคำสั่งของนายทะเบียนเป็นที่สุด

คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการตามวรรคสามให้เป็นที่สุด

 

มาตรา 70  การใช้เครื่องหมายการค้า โดยผู้ได้รับอนุญาตสำหรับสินค้าในการประกอบธุรกิจของตนตามที่ได้รับอนุญาตไว้ ให้ถือว่าเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าโดยเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น

 

มาตรา 71  เจ้าของเครื่องหมายการค้า และผู้ได้รับอนุญาตอาจร่วมกันร้องขอต่อนายทะเบียนให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า ในส่วนที่เกี่ยวกับสินค้าที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้น หรือในส่วนที่เกี่ยวกับเงื่อนไขหรือข้อจำกัดที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าได้กำหนดไว้ในสัญญาอนุญาตดังกล่าวได้ และให้นำมาตรา 69 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

การขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา 72  เจ้าของเครื่องหมายการค้า และผู้ได้รับอนุญาตอาจร่วมกันร้องขอต่อนายทะเบียนให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าได้

เจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือผู้ได้รับอนุญาตฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด อาจร้องขอต่อนายทะเบียนให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า หากแสดงได้ว่าสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว

ผู้มีส่วนได้เสียหรือนายทะเบียนอาจร้องขอต่อคณะกรรมการ ให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าได้ หากแสดงได้ว่า

(1) การใช้เครื่องหมายการค้าโดยผู้ได้รับอนุญาตนั้นทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิด หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือรัฐประศาสโนบาย หรือ

(2) เจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นไม่อาจควบคุมคุณภาพของสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นได้อย่างแท้จริงอีกต่อไป

การขอเพิกถอนการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตตามมาตรานี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา 73  เมื่อได้รับคำร้องขอตามมาตรา 72 วรรคสองหรือวรรคสาม ให้นายทะเบียนหรือคณะกรรมการแล้วแต่กรณี มีหนังสือแจ้งให้เจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นหรือผู้ได้รับอนุญาต แล้วแต่กรณี ทราบเพื่อยื่นคำชี้แจงของตนภายในเวลาที่กำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่าสิบห้าวันและไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากนายทะเบียนหรือคณะกรรมการแล้วแต่กรณี

ในการพิจารณาคำร้องขอตามมาตรา 71 หรือมาตรา 72 นายทะเบียนหรือคณะกรรมการ แล้วแต่กรณี จะให้บุคคลที่เกี่ยวข้องนำพยานหลักฐานมาแสดงหรือชี้แจงเพิ่มเติมก็ได้

 

มาตรา 74  เมื่อนายทะเบียนได้มีคำสั่งตามมาตรา 72 วรรคสองแล้วให้มีหนังสือแจ้งคำสั่งพร้อมด้วยเหตุผลให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าและผู้ได้รับอนุญาตทราบโดยไม่ชักช้า คำสั่งดังกล่าวให้มีผลนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากนายทะเบียน

เจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือผู้ได้รับอนุญาต มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ต่อคณะกรรมการภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากนายทะเบียน ถ้าไม่อุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้ถือว่าคำสั่งของนายทะเบียนเป็นที่สุด

 

มาตรา 75  เมื่อคณะกรรมการได้มีคำสั่งตามมาตรา 72 วรรคสามแล้วให้มีหนังสือแจ้งคำสั่งพร้อมด้วยเหตุผลให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าผู้ได้รับอนุญาต ผู้มีส่วนได้เสียซึ่งเป็นผู้ร้องขอ และนายทะเบียนทราบโดยไม่ชักช้า คำสั่งดังกล่าวให้มีผลนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากคณะกรรมการ

ผู้มีส่วนได้เสียหรือนายทะเบียนมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ต่อศาลภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากคณะกรรมการ ถ้าไม่อุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าคำสั่งของคณะกรรมการเป็นที่สุด

 

          มาตรา 76  ในกรณีที่มีการเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใด การอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นย่อมสิ้นผลไปด้วย

 

มาตรา 77  ในกรณีที่สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น เจ้าของเครื่องหมายการค้ามีสิทธิที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นเสียเองหรือจะอนุญาตให้บุคคลอื่นนอกจากผู้ได้รับอนุญาตใช้เครื่องหมายการค้านั้นอีกก็ได้

 

มาตรา 78  ในกรณีที่สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ผู้ได้รับอนุญาตมีสิทธิที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นได้ทั่วประเทศสำหรับสินค้าทั้งหมดที่ได้จดทะเบียนไว้ตลอดอายุการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น รวมทั้งในกรณีที่มีการต่ออายุการจดทะเบียนด้วย

 

มาตรา 79  ในกรณีที่สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ผู้ได้รับอนุญาตจะโอนการอนุญาตตามสัญญาดังกล่าวให้แก่บุคคลภายนอกไม่ได้และจะอนุญาตช่วงให้บุคคลอื่นใช้เครื่องหมายการค้านั้นอีกทอดหนึ่งก็ไม่ได้

 

หมวด 2

เครื่องหมายบริการและเครื่องหมายรับรอง

                               

 

มาตรา 80  ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้ามาใช้บังคับแก่เครื่องหมายบริการโดยอนุโลม และให้คำว่า

“สินค้า” ในบทบัญญัติดังกล่าวหมายความถึง “บริการ”

 

มาตรา 81  เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในหมวดนี้ ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้ามาใช้บังคับแก่เครื่องหมายรับรองโดยอนุโลม

 

มาตรา 82  การขอจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองนั้น นอกจากจะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว ผู้ขอจดทะเบียนจะต้อง

(1) ยื่นข้อบังคับว่าด้วยการใช้เครื่องหมายรับรองนั้นพร้อมกับคำขอจดทะเบียนด้วย และ

(2) แสดงได้ว่าตนมีความสามารถเพียงพอที่จะรับรองคุณลักษณะของสินค้าหรือบริการตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับตาม (1)

ข้อบังคับตาม (1) ต้องระบุถึงแหล่งกำเนิด ส่วนประกอบ วิธีการผลิต คุณภาพ หรือคุณลักษณะอื่นใดของสินค้าหรือบริการที่จะรับรอง ตลอดจนหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองนั้น

 

มาตรา 83  นายทะเบียนอาจมีคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับว่าด้วยการใช้เครื่องหมายรับรองตามที่นายทะเบียนเห็นสมควร ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งนั้นและมีหนังสือแจ้งคำสั่งพร้อมด้วยเหตุผลให้ผู้ขอจดทะเบียนทราบโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ ให้นำมาตรา 18 และมาตรา 19 มาใช้บังคับแก่การอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนโดยอนุโลม

 

          มาตรา 84  ถ้านายทะเบียนเห็นว่า ผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายรับรอง ไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะรับรองคุณลักษณะของสินค้าหรือบริการตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับว่าด้วยการใช้เครื่องหมายรับรองนั้น หรือเห็นว่าการรับจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองนั้นจะไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ให้นายทะเบียนมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองนั้นและมีหนังสือแจ้งคำสั่งพร้อมด้วยเหตุผลให้ผู้ขอจดทะเบียนทราบโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ ให้นำมาตรา 18 และมาตรา 19 มาใช้บังคับแก่การอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนโดยอนุโลม

 

มาตรา 85  ในการประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายรับรอง ให้นายทะเบียนระบุถึงสาระสำคัญของข้อบังคับว่าด้วยการใช้เครื่องหมายรับรองนั้นด้วย

 

มาตรา 86  เจ้าของเครื่องหมายรับรองที่ได้จดทะเบียนแล้วจะขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ ว่าด้วยการใช้เครื่องหมายรับรองนั้นก็ได้ แต่จะต้องไม่เป็นการกระทบกระเทือนต่อประโยชน์ของสาธารณชน

การขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

          มาตรา 87  ถ้านายทะเบียนพิจารณาแล้วเห็นควรรับจดทะเบียนการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับตามมาตรา 86 ให้นายทะเบียนมีคำสั่งรับจดทะเบียนและมีคำสั่งให้ประกาศโฆษณาสาระสำคัญของข้อบังคับที่ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงแล้ว

เมื่อได้มีคำสั่งให้ประกาศโฆษณาตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งคำสั่งให้เจ้าของเครื่องหมายรับรองนั้นทราบโดยไม่ชักช้า

 

มาตรา 88  ถ้านายทะเบียนเห็นว่าไม่ควรรับจดทะเบียนการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับตามมาตรา 86 ให้นายทะเบียนมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนและมีหนังสือแจ้งคำสั่งพร้อมด้วยเหตุผลให้เจ้าของเครื่องหมายรับรองนั้นทราบโดยไม่ชักช้า

 

มาตรา 89  เจ้าของเครื่องหมายรับรองนั้นหรือบุคคลอื่นใด ที่ได้รับหรือจะได้รับความเสียหายจากคำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา 87 หรือมาตรา 88 มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการภายในเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศโฆษณาตามมาตรา 87 หรือนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา 88 แล้วแต่กรณี

คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่งให้เป็นที่สุด

 

มาตรา 90  เจ้าของเครื่องหมายรับรองที่ได้จดทะเบียนแล้วจะใช้เครื่องหมายนั้นกับสินค้าหรือบริการของตนเองไม่ได้ และจะอนุญาตให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับรองโดยใช้เครื่องหมายนั้นก็ไม่ได้

 

มาตรา 91  การอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้เครื่องหมายรับรองกับสินค้าหรือบริการของบุคคลนั้นต้องทำเป็นหนังสือ และลงลายมือชื่อเจ้าของเครื่องหมายรับรอง

 

มาตรา 92  การโอนสิทธิในเครื่องหมายรับรองที่ได้จดทะเบียนแล้วจะกระทำได้ต่อเมื่อ

(1) ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนแล้ว โดยผู้รับโอนสามารถแสดงต่อนายทะเบียนได้ว่าตนมีความสามารถเพียงพอที่จะรับรองคุณลักษณะของสินค้าหรือบริการตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับว่าด้วยการใช้เครื่องหมายรับรองนั้น

(2) ทำเป็นหนังสือ และ

(3) จดทะเบียนต่อนายทะเบียน

ในกรณีที่นายทะเบียนมีคำสั่งไม่อนุญาตหรือไม่รับจดทะเบียนการโอนสิทธิตามวรรคหนึ่ง ให้นำมาตรา 84 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

การขออนุญาตโอนสิทธิและการขอจดทะเบียนการโอนสิทธิตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา 93  สิทธิในเครื่องหมายรับรองสิ้นสุดลง เมื่อเจ้าของเครื่องหมายรับรองนั้นตายหรือสิ้นสภาพบุคคล

 

หมวด 3

เครื่องหมายร่วม

                               

 

มาตรา 94  ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้ามาใช้บังคับแก่เครื่องหมายร่วมโดยอนุโลม เว้นแต่บทบัญญัติในหมวด 1 ส่วนที่ 5

 

หมวด 4

คณะกรรมการเครื่องหมายการค้า

                               

 

มาตรา 95  ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการเครื่องหมายการค้า” ประกอบด้วย อธิบดีกรมทะเบียนการค้าเป็นประธานกรรมการ อัยการสูงสุดหรือผู้แทนเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือผู้แทนและผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีกไม่น้อยกว่าสี่คนแต่ไม่เกินแปดคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง เป็นกรรมการ

คณะกรรมการจะแต่งตั้งบุคคลใดเป็นเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการก็ได้

 

มาตรา 96  คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) วินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของนายทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้

(2) สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ และเครื่องหมายรับรองตามพระราชบัญญัตินี้

(3) ให้คำแนะนำหรือคำปรึกษาแก่รัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวงหรือประกาศตามพระราชบัญญัตินี้

(4) พิจารณาเรื่องอื่น ๆ ตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย

 

มาตรา 97  กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปี

ในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งเพิ่มขึ้นหรือแต่งตั้งซ่อมให้ผู้ได้รับแต่งตั้งนั้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการ ซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้วนั้น

กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้

 

มาตรา 98  นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 97 กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(1) ตาย

(2) ลาออก

(3) คณะรัฐมนตรีให้ออก

(4) เป็นบุคคลล้มละลาย

(5) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(6) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

 

มาตรา 99  การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม

ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อยู่ในที่ประชุม ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

 

มาตรา 100  คณะกรรมการอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อพิจารณา หรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้

ให้นำมาตรา 99 มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม

 

มาตรา 101  การอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อนายทะเบียนตามแบบที่อธิบดีกำหนด

วิธีพิจารณาอุทธรณ์ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

 

มาตรา 102  ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้คณะกรรมการมีอำนาจมีหนังสือสอบถามหรือเรียกนายทะเบียน ผู้อุทธรณ์ หรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อเท็จจริง คำอธิบาย หรือความเห็น หรือให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาก็ได้

 

หมวด 5

เบ็ดเตล็ด

                               

 

มาตรา 103  ในระหว่างเวลาทำการ บุคคลใด ๆ มีสิทธิมาตรวจดูทะเบียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรองและเครื่องหมายร่วม สารบบเครื่องหมายดังกล่าว ขอคัดสำเนาหรือขอให้รับรองสำเนาเอกสาร หรือขอคำรับรองจากนายทะเบียนเกี่ยวกับรายการจดทะเบียนโดยเสียค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา 104  หนังสือเรียก หนังสือแจ้ง หรือหนังสืออื่นใด ที่มีถึงผู้ขอจดทะเบียน ผู้คัดค้าน เจ้าของเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการเครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมที่ได้จดทะเบียนแล้ว ผู้ได้รับอนุญาตหรือบุคคลอื่นใด เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ณ สำนักงานหรือสถานที่ที่ระบุไว้ในคำขอจดทะเบียนหรือที่ได้จดทะเบียนไว้ แล้วแต่กรณี

ถ้าไม่สามารถส่งตามวิธีดังกล่าวในวรรคหนึ่งได้ จะให้เจ้าพนักงานนำหนังสือนั้นไปส่ง หรือจะส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับอีกครั้งหนึ่งก็ได้ ในกรณีที่ให้เจ้าพนักงานนำหนังสือนั้นไปส่งถ้าไม่พบผู้รับจะส่งให้แก่บุคคลใดซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วและอยู่หรือทำงานในสำนักงานหรือสถานที่ดังกล่าว หรือจะปิดหนังสือนั้นไว้ในที่ซึ่งเห็นได้ง่าย ณ สำนักงานหรือสถานที่ดังกล่าวของผู้รับนั้นก็ได้

เมื่อได้ส่งตามวิธีการดังกล่าวในวรรคสองและเวลาได้ล่วงพ้นไปเจ็ดวันแล้ว ให้ถือว่าบุคคลนั้นได้รับหนังสือนั้นแล้ว

 

มาตรา 105  เพื่อประโยชน์ในการฟ้องและดำเนินคดีเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง และเครื่องหมายร่วมตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าผู้ขอจดทะเบียนหรือเจ้าของเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย ให้ถือว่าสำนักงานหรือสถานที่ของบุคคลดังกล่าวหรือตัวแทน ตามที่ระบุไว้ในคำขอจดทะเบียนหรือที่ได้จดทะเบียนไว้เป็นภูมิลำเนาของบุคคลดังกล่าว

 

          มาตรา 106  ในกรณีที่นายทะเบียนร้องขอต่อคณะกรรมการให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วม หรือให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการ ให้นายทะเบียนได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมที่จะต้องเสียตามพระราชบัญญัตินี้

 

หมวด 6

บทกำหนดโทษ

                               

 

มาตรา 107  บุคคลใดยื่นคำขอ คำคัดค้าน หรือเอกสารอื่นใดเกี่ยวกับการขอจดทะเบียน การแก้ไขเปลี่ยนแปลงการจดทะเบียน การต่ออายุการจดทะเบียน หรือการเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วม หรือการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า หรือเครื่องหมายบริการ โดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่นายทะเบียน หรือคณะกรรมการ  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา 108  บุคคลใดปลอมเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้ว ในราชอาณาจักรต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสี่ปี หรือปรับไม่เกินสี่แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา 109  บุคคลใดเลียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่นนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา 110  บุคคลใด

(1) นำเข้ามาในราชอาณาจักร จำหน่าย เสนอจำหน่าย หรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมปลอมตามมาตรา 108 หรือที่เลียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่นตามมาตรา 109 หรือ

(2) ให้บริการหรือเสนอให้บริการที่ใช้เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมปลอมตามมาตรา 108 หรือที่เลียนเครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่นตามมาตรา 109

ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ

 

มาตรา 111  บุคคลใด

(1) แสดงเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมที่มิได้จดทะเบียนในราชอาณาจักรว่าเป็นเครื่องหมายดังกล่าวที่ได้จดทะเบียนในราชอาณาจักรแล้ว

(2) จำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมตาม (1) ที่ตนรู้อยู่ว่าเป็นเท็จ หรือ

(3) ให้บริการหรือเสนอให้บริการโดยแสดงเครื่องหมายบริการเครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมตาม (1) ที่ตนรู้อยู่ว่าเป็นเท็จ

ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา 112  บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา 90 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

 

มาตรา 113  บุคคลใดกระทำความผิดต้องระวางโทษตามพระราชบัญญัตินี้ เมื่อพ้นโทษแล้วยังไม่ครบกำหนดห้าปีกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้อีกให้วางโทษทวีคูณ

 

มาตรา 114  ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคล กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น

 

มาตรา 115  บรรดาสินค้าที่ได้นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย หรือมีไว้เพื่อจำหน่ายอันเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่

 

มาตรา 116  ในกรณีที่มีหลักฐานโดยชัดแจ้งว่ามีผู้กระทำการ หรือกำลังกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามมาตรา 108 มาตรา 109 หรือมาตรา 110 เจ้าของเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วม อาจขอให้ศาลมีคำสั่งให้บุคคลดังกล่าวระงับหรือละเว้นการกระทำดังกล่าวนั้นได้

 

บทเฉพาะกาล

                  

 

มาตรา 117  เครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช 2474 และยังคงจดทะเบียนอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นเครื่องหมายการค้าตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา 118  ให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช 2474 ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ จนถึงวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะได้มีคณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้  แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

 

มาตรา 119  บรรดาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำขอจดทะเบียน คำขอจดทะเบียนการเปลี่ยนแปลงข้อความที่ได้จดทะเบียนแล้ว คำขอจดทะเบียนโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้า และคำขอต่ออายุเครื่องหมายการค้าที่ได้ยื่นไว้แล้ว ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช 2474 ถ้าก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

(1) นายทะเบียนยังมิได้มีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับคำขอดังกล่าว ให้ถือว่าเป็นคำขอที่ได้ยื่นตามพระราชบัญญัตินี้และให้ดำเนินการเกี่ยวกับคำขอดังกล่าวตามพระราชบัญญัตินี้

(2) นายทะเบียนได้มีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับคำขอดังกล่าว แล้วการดำเนินการเกี่ยวกับคำขอดังกล่าวให้อยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช 2474 ต่อไปจนกว่าจะถึงที่สุด

 

มาตรา 120  การขอต่ออายุเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช 2474 ซึ่งเจ้าของได้ขอจดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าจำพวกใดจำพวกหนึ่งทั้งจำพวก ให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าระบุรายการสินค้าที่ประสงค์จะได้รับความคุ้มครองแต่ละอย่างโดยชัดแจ้ง ในกรณีดังกล่าวนี้ให้นำมาตรา 9 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

มาตรา 121  การอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของนายทะเบียน และการคัดค้านการจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช  2474 ที่ค้างพิจารณาอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้อยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช 2474 จนกว่าจะถึงที่สุด

 

มาตรา 122  กำหนดเวลาในการอุทธรณ์ กำหนดเวลาในการคัดค้านการจดทะเบียน กำหนดเวลาให้ผู้ขอจดทะเบียนยื่นคำโต้แย้งที่อาศัยเป็นหลักในการขอจดทะเบียน และกำหนดเวลาการแจ้งให้นายทะเบียนทราบว่าผู้ขอจดทะเบียนได้ตกลงกันแล้วหรือได้นำคดีไปสู่ศาลแล้วตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช 2474 ถ้ายังมิได้สิ้นสุดลงก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้เริ่มนับกำหนดเวลาดังกล่าวใหม่ตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นต้นไป

 

มาตรา 123  บรรดากฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ หรือคำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช 2474 ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้  ทั้งนี้ จนกว่าจะมีกฎกระทรวงหรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

อานันท์ ปันยารชุน

นายกรัฐมนตรี

อัตราค่าธรรมเนียม

                               

 

(1) คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมาย

บริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วม

สินค้าหรือบริการ                                                          อย่างละ   500 บาท

(2) การประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนตาม (1)           คำขอละ   200 บาท

(3) แม่พิมพ์รูปเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ

เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วม ที่มี

ด้านกว้างหรือด้านยาวเกิน 5 เซนติเมตร

ให้คิดเฉพาะส่วนที่เกิน                                                 เซนติเมตรละ   100 บาท

เศษของเซนติเมตรให้คิดเป็นหนึ่งเซนติเมตร

(4) คำคัดค้านการขอจดทะเบียนตาม (1)                                          ฉบับละ 1,000 บาท

(5) คำขอโอนสิทธิในคำขอจดทะเบียนเครื่องหมาย

การค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง

หรือเครื่องหมายร่วม                                                                     คำขอละ 1,000 บาท

(6) การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมาย

บริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วม

สินค้าหรือบริการ                                                          อย่างละ   300 บาท

(7) ใบแทนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียน              ฉบับละ   100 บาท

(8) คำขอจดทะเบียนการโอนหรือรับมรดกสิทธิใน

เครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ

เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วม                   คำขอละ 1,000 บาท

(9) คำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการการจดทะเบียน

ตาม (6)                                                                           คำขอละ   200 บาท

(10) คำขอต่ออายุการจดทะเบียนตาม (6)

สินค้าหรือบริการ                                                        อย่างละ 1,000 บาท

(11) คำร้องขอต่อคณะกรรมการให้สั่งเพิกถอน

การจดทะเบียนตาม (6)                                                 ฉบับละ   500 บาท

(12) คำขอจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมาย

การค้า หรือเครื่องหมายบริการ                                    คำขอละ   500 บาท

(13) การจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมาย

การค้า หรือเครื่องหมายบริการ                                    สัญญาละ 1,000 บาท

(14) คำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการการจดทะเบียน

ตาม (13)                                                                         คำขอละ   200 บาท

(15) คำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนตาม (13)                คำขอละ   200 บาท

(16) คำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำขอจดทะเบียน

ตาม (1) (8) หรือ (12)                                                     คำขอละ   100 บาท

(17) คำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับว่าด้วยการ

ใช้เครื่องหมายรับรอง

(ก) ก่อนการจดทะเบียนเครื่องหมายรับรอง                               คำขอละ   100 บาท

(ข) หลังการจดทะเบียนเครื่องหมายรับรอง                                คำขอละ   200 บาท

(18) อุทธรณ์

(ก) อุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนตาม

มาตรา 16 มาตรา 17 มาตรา 27

หรือคำวินิจฉัยของนายทะเบียนตาม

มาตรา 37                                                                     ฉบับละ 2,000 บาท

(ข) อุทธรณ์ตามมาตราอื่น                                             ฉบับละ 1,000 บาท

(19) การขอตรวจดูทะเบียนเครื่องหมายการค้า

เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง

หรือเครื่องหมายร่วม หรือสารบบเครื่องหมาย

ดังกล่าว                                                                           ชั่วโมงละ   100 บาท

เศษของชั่วโมงให้คิดเป็นหนึ่งชั่วโมง

(20) การขอสำเนาทะเบียนเครื่องหมายการค้า

เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง

หรือเครื่องหมายร่วม เป็นชุดพร้อมคำรับรอง             ฉบับละ   200 บาท

(21) การขอคัดสำเนาเอกสาร                                                หน้าละ    10 บาท

(22) การขอให้รับรองสำเนาเอกสารเรื่องเดียวกัน

(ก) เอกสารไม่เกิน 10 หน้า                                            หน้าละ    10 บาท

(ข) เอกสารเกิน 10 หน้า                                                                 ฉบับละ   100 บาท

(23) การขอคำรับรองจากนายทะเบียนเกี่ยวกับ

รายการการจดทะเบียน                                                  ฉบับละ    50 บาท

(24) คำขออื่น ๆ                                                                     คำขอละ   100 บาท

 

 

                                               

หมายเหตุ:-เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช 2474 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว บทบัญญัติต่าง ๆ จึงล้าสมัยและไม่สามารถคุ้มครองสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าได้เพียงพอ ประกอบทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับเครื่องหมายบริการเครื่องหมายรับรอง และสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการ ซึ่งในปัจจุบันเป็นที่แพร่หลายและได้รับความคุ้มครองในกฎหมายของต่างประเทศ หลายประเทศแล้ว ก็ยังไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไทยนอกจากนั้น พระราชบัญญัติดังกล่าวยังมีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสม เช่น  มิได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า ตลอดจนสิทธิของผู้ขอจดทะเบียนไว้ให้ชัดเจน ทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติอยู่มากสมควรปรับปรุงพระราชบัญญัติดังกล่าวให้เหมาะสมยิ่งขึ้

error: Content is protected !!